ยุทธพงษ์ สืบภักดี : ครูหนุ่ม

ครูหมีขี้บ่น

วิชาศิลปะเพิ่มเติม จิตรกรรมสากล

by on ก.ย..22, 2013, under ครูหมีขี้บ่น

image

image

image

image

image

ปิดความเห็น บน วิชาศิลปะเพิ่มเติม จิตรกรรมสากล more...

โครงงานศิลปะ ม.ต้น

by on ก.ย..22, 2013, under ครูหมีขี้บ่น

image

image

ปิดความเห็น บน โครงงานศิลปะ ม.ต้น more...

การประกวดวาดภาพวันวิทยาศาสตร์

by on ส.ค..30, 2013, under ครูหมีขี้บ่น

พรุ่งนี้จะพานักเรียนฝปลองประกวดวาดภาพดูว่าจะสู้เค้สได้ไหม มั่นใจประมาณ 80% ว่าต้องมีรางวัลติดมือกลับมาแน่ ที่เหลือลุ้นกลัวจะทำไม่ทันในเวลาที่กำหนดโหดมาก 3 ชั่วโมงเอง

image

ผ่านพ้นไปแล้วกับการประกวดวาดภาพวิทยาศาสตร์
image

ถึงแม้การประกวดครั้งนี้จะแปลกๆสักหน่อย ระบบระเบียบมั่วๆ

ปิดความเห็น บน การประกวดวาดภาพวันวิทยาศาสตร์ more...

กีฬานักเรียน กิจกรรมที่ควรสนับสนุน

by on ส.ค..30, 2013, under ครูหมีขี้บ่น

กีฬานักเรียนนั้นมีเป็นประจำทุกหน่วยงาน ทุกสังกัด ทุกระดับชั้น ผมได้เป็นทั้งนักกีฬาตั้งแต่สมัยเรียนและผู้ควบคุมทีม เลยชื่นชอบเป็นพิเศษ กีฬาที่ชื่นชอบนั้นก็มีหลายอย่าง ที่ถนัดสุดก็บาสเก็ตบอล รองลงมาก็ปิงปอง และวอลเลย์บอล พอได้ทำงานก็เลิกเล่นไปนาน แต่พอมาเป็นครูก็เห็นเด็กๆเล่นกีฬากันและขาดแคลนคนูผู้ฝึกซ้อมก็เลยกระโจนลงไปอีกงาน กีฬาที่เลือกก็คือ ปิงปอง เพราะไม่มีคนทำ ครูคนเก่าย้ายไปแล้วเลยรับมาทำเอง พอได้ลงไปคลุกคลีกับเด็กๆ ก็ยิ่งเห็นถึงความสามารถของเด็กแถวนี้จริงๆ เล่นปิงปองกันมีแววมาก หลังจากที่ลงมือซ้อมและลองมองๆคนที่พร้อมจะเข้ามาเล่นจริงจังก็ได้มา2-3คนส่วนที่เหลือนั้นขาดซ้อม ถึงจะฝีมือดีแต่ขาดซ้อมก็ไม่ถือว่าเป็นนักกีฬา สู้คนที่ตั้งใจซ้อมแต่ไปชนะหรือแพ้ก็จะได้ผลลัพท์และกำลังใจที่ดีกว่า หลังจากลงทุนลงแรงด้วยตนเองไปเยอะพอสมควร เพราะขาดการสนับสนุนที่ดีจาก….แต่นั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ ผลงานที่ได้รับกลับมานั้นน่าพอใจเลยที่เดียว ทั้งในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด กวาดรางวัลมามากน้อย ทุกรายการ น่ายินดีจริงๆ

image

ปิดความเห็น บน กีฬานักเรียน กิจกรรมที่ควรสนับสนุน more...

วิชาศิลปะในปัจจุบันต้องเรียนอย่างไง?

by on ก.ค..29, 2013, under ครูหมีขี้บ่น

วิชาศิลปะในปัจจุบันระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายนั้น รูปแบบการเรียนเปลี่ยนไปมากจากสมัยผมเรียนตอนเด็ก ในปัจจุบันวิชาศิลปะนั้นแทบจะโดนถอดออกจากวิชาหลักไปแล้วใน ม.ต้น นั้นเหลือเรียนแค่สัปดาห์ละ 2 คาบ(คาบละ55นาที) ม.ปลายนั้นยิ่งหนักเหลืออาทิตย์ละ 1 คาบเท่านั้น แล้วถ้สโรงเรียนนั้นเน้นวิชาการหลัก คณิต อังกฤษ วิทย์ ภาษาไทย ก็แทบจะไม่เหลือวิชาศิลปะเพิ่มเติมให้เรียนเลย เว้นแต่ ม.ปลายจะเลือกเรียนสายศิลป์ ซึ่งเหลือน้อยมากและผิดวัตถุประสงคในการเลือกเรียนไปแล้ว เพราะเด็กที่เลือกเรียนสายศิลป์ไม่ได้ชอบวิชาศิลปะ แต่เข้าใจและได้รับการแนะนำที่ผิดๆมาจากทั้งครูและพี่ เพื่อน ว่าเรียนสายศิลป์แล้วจะเรียนง่ายสบาย ไม่ค่อยเรียน และจบสะดวก!!!!

ส่วนถ้าเรียนกันจริงๆแล้ว เนื้อหานั้นมากมายเหลือเกิน ตามตัวชี้วัด อะไรที่มากมายจนไม่มีทางที่จะสอนให้ครบได้ตามเวลาที่ให้มา ซึ่งแค่เนื้อหาที่ต้องเรียนถ้าเรียนกันจริงๆแล้วทั้งเทอมก็ไม่พอ แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปทำงานปฏิบัติซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเรียนวิชาศิลปะที่สุด ภาระตกหนักที่ครูที่ต้องอัดเนื้อหาและวิชาการเข้าไปอย่างมากมายเพื่อ???? เพื่อหวังผลสัมฤทธิ์ของการทดสอบระดับชาติ o-net บ้าบอคอแตก ซึ่งเป็นตัวบอกคุณภาพของโรงเรียนและครูผู้สอนว่าทำการเรียนการสอนให้เด็กเข้าใจได้หรือไหม ซึ่งผมก็เห็นด้วย(บางส่วน)ว่าเป็นตัวกระตุ้นให้ครูและเด็กทำการเรียนการสอนอย่างตั้งใจ แต่…? ข้อสอบในปีที่ผ่านมาของทั้ง ม.ต้น และ ม.ปลายนั้น ผมได้ลองอ่านและลองทำเฉลยแล้วบอกได้เลยว่า หินมาก ยากสุดๆ อย่า!!!เพิ่งคิดว่าผมโง่เอง ท่านลองทำก่อน แล้วจะรู้ว่าข้อสอบนั้นมันเกินระดับเด็กมัธยมที่จะสามารถทำได้ มันข้อสอบของระดับมหาลัยเลยจริงๆ เนื้อหาลงลึกมากจนเกินไป ในเมื่อท่านๆ นั่นไม่เห็นความวำคัญของวิชานี้แต่เวลาออกข้อสอบนั้นเหมือนกับจะเอาเด็กไปเข้ามหาลัยศิลปะชั้นนำของปนะเทศไทยเลยทีเดียว ผลการทดสอบที่ออกมานั้น หวาดเสียวมากสำหรับครูศิลปะอย่างผม คนอื่นอาจจะไม่ลำบากแต่ผมคิดมากไปเอง…เพราะอะไร????

image

เพราะผมมองว่าวิชาศิลปะนั้นในระดับมัธยมต้นและปลายควรงจะเน้นที่ความคิดสร้างสรรค์และความสนุกสนานในการเรียนมากกว่าวิชาการที่เข้มข้นเหมือนเรียนมหาลัย ทำไมผมถึงกล้าพูดแบบนั้น ก็ย้อนกลับไปอดีตชาติของผมที่ก่อนจะมาเป็นครูศิลปะมัธยมนั้ยผมเคยเป็นครูศิลปะระดับอาชีวะมาก่อน ซึ่งเนื้อหายังไม่หนักขนาดนี้เลยเน้นฝีมือและทักษะ วิชาการพอประมาณ. แล้วผลที่ได้คือเด็กมีฝีมือสอบเข้ามหาลัยชั้นนำของประเทศได้ ด้วยการทดสอบ ทักษะเป็นส่วนใหญ่และบางมหาลัยมีการทดสอบวิชาการแต่!!! ข้อสอบนั้นง่ายกว่า o-net ระดับมัธยมซะอีก!!!!!

ผมครุดคิดและสับสนในแนวทางการสอนอยู่บ่อยครั้งว่าจะเอาไงดีวะเนี้ย ตูจะสอนไงดีวะ เอาวิชาการเน้นผล o-net เอาทักษะฝีมือที่ได้ หรือจะเอาทั้งสองอย่างผสมกันซึ่งทำอยู่แต่…ถ้าผสมกันแล้วจะทำให้เนื้อหานั้นไม่พอจะสอนในเวลาที่กำหนดให้ จะให้งาน ให้รายงาน ให้การบ้านก็แสนจะสงสานเด็กไทยจริงๆ เพราะทุกวิชาคงจะเป็นเหมือนกันหมด การบ้านมากมายมหาศาล  เลยต้องหลีกทางให้กับวิชาหลัก…..

หลังจากที่ลองผิดลองถูกมาหลากหลายวิธีสุดท้ายผมตัดสินใจแล้วว่า การเรียนศิลปะให้ได้ดีนั้นต้อง สอนให้เด็กสนุกในการเรียน ไม่ใช่แค่วาดรูปอย่างเดียว ต้องผสมทุกสิ่งทุกอย่างไปในตัวทั้ง การงานอาชีพ คอมพิวเตอร์ วิชาการ วาด ปั้น พิมพ์ ของเล่น เกมต่างๆ และที่สำคัญต้อง ชื่นชม โชว์ผลงานเหล่านั้นของเด็กให้ทุกคนในโรงเรียนได้เห็นและชื่นชมด้วย ให้เด็กสนุกและเริ่มที่อยากจะเข้ามาเรียน ตื่นเต้น ชอบ และรู้สึกว่าเข้ามาเล่น!! ไม่ได้มาเรียน แล้วเราค่อยแทรกเนื้อหาที่สำคัญเข้าไปในระหว่างการทำงานหรือแนะนำเป็นรายบุคคลเลยตามความสามารถเลยจะได้ผลที่ดีที่สุด

image

image

image

image

ครูหนุ่ม
30 ก.ค. 2556

ปิดความเห็น บน วิชาศิลปะในปัจจุบันต้องเรียนอย่างไง? more...

การประกวดแข่งขันวาดภาพ? ได้อะไร? ใครได้?

by on ก.ค..23, 2013, under ครูหมีขี้บ่น

ตลอดปีการศึกษามีการประกวดแข่งขันวาดภาพระบายสีเข้ามามากมาย ท่านผู้บริหารก็จะพยายามกระตุ้นให้มีการส่งเข้าประกวดอยู่ตลอดเวลาด้วยเหตุผลคืออะไรคนที่อ่านลองนึกๆไว้ในใจตอนนี้เลยนะครับก่อนอ่านบทความต่อไป ว่าคิดต่างจากผมอย่างไง บทความนี้ผมเขียนขึ้นมาเพราะในการส่งประกวดครั้งล่าสุดนี้ผมเริ่มไม่มั่นใจในตัวเองว่าทำไปทำไม?

คำถามคือ?
ครูและเด็กพร้อมไหม?
มีเวลาให้มากขนาดไหน?
การสนับสนุนจากโรงเรียนละมีไหม?

ผมถามตัวเองทุกครั้งว่าประกวดไปเพื่ออะไร? เพื่อตัวครู หรือเด็ก หรือผู้บริหาร หรือเพื่อโรงเรียน

ความไม่มั่นใจในแนวทางการทำงานและเหตุผลบางครั้งทำให้งงๆ บ่อยครั้ง เพราะอะไรเพราะคนลงมือทำงานคือตัวเด็ก ไม่ใช่ครู ไม่ใช่ผู้บริหาร ไม่ใช่โรงเรียน แต่เป็นตัวเด็กนักเรียนล้วนๆ หลายครั้งที่เด็กถามกลับมาว่า “ประกวดไปทำไมค่ะ” คำุถามนี้ทำให้ผมอิ้งไปหลายครั้งอยู่เพราะว่าเราตอบจริงๆไม่ได้ “อ้อ นายสั่งง่ะต้องเอาใจนาย” “อ้อเผื่อได้รางวัลง่ะครูและท่านจะได้ได้หน้า” “โรงเรียนจะได้มีชื่อเสียง มีหน้ามีตา” คำตอบเหล่านี้มันผุดขึ้นมาในใจผมทันทีที่เด็กถาม แต่ไม่ใช่คำตอบที่เด็กต้องการ แล้วผมจะตอบอย่างไง…..

หลายๆคนอ่านมาถึงตรงนี้(ถ้ามีคนอ่านนะ)คงจะตอบว่า “เอ้า ก็ประกวดให้เด็กได้รางวัลละสิ” “เอ้า ก็ประกวดเพื่อสร้างความภูมิใจให้เด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครองและโรงเรียนไปจนถึงครูผู้สอน ผู้บริหารนะสิ” ใช่ครับคำตอบง่ายๆ แค่นี้เอง…

แต่ในความเป็นจริงแล้วการที่จะให้เด็กมาทำงานประกวดด้วยความตั้งใจจริง ทำด้วยใจ ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจทั้งตัวเด็กและครูนั้น มันละเอียดอ่อนและเปราะบางมาก ถ้าเราหวังผลการแข่งขันแพ้ ชนะ หรือหวังรางวัลเป็นที่ตั้ง การฝึกซ้อมก็จะแตกต่างกันออกไปทันทีในรูปแบบของผลงานที่กำลังจะทำไปส่งประกวด ผมเคยเห็นเคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มาค่อนข้างมากตั้งแต่เป็นเด็กผู้ลงมือทำจนกระทั่งมาเป็นครู บางครั้งครูจะเป็นคนออกแบบให้กับเด็กเลยแล้วให้เด็กเป็นคนลงมือปฎิบัติซ้อมจนคล่องมือแล้วไปประกวด บางที่โรงเรียนใหญ่ๆดังๆทางด้านศิลปะถึงขั้นเรียกประชุมคณะครูทั้งกลุ่มเพื่อระดมความคิดในการออกแบบกันเลยทีเดียว บางที่คณะครูถึงกับพูดว่าการประกวดแข่งขันนั้นหมายถึงการโชว์ความสามารถของครูผู้ควบคุมการฝึกซ้อมกันเลยที่เดียวไม่ใช่ความคิดของเด็กเลย….แล้วเด็กได้อะไร? ได้รางวัล? ภูมิใจ? ได้ชื่อเสียง? หรือใครได้อะไร? และเมื่อเป็นอย่างงั้นเด็กจะเป็นอย่างไง?.
.

แรกๆ ผมทำแบบที่กล่าวมาทั้งหมดเพราะหวังผลที่จะตามมา ได้รางวัลมาแสนจะดีใจดีใจมากกว่าเด็กอีก กลับมาโรงเรียนมีการมอบรางวัลซ้ำอีกที่คณะ ที่หน้าเสาธง ถ่ายรูปกับท่านๆทั่งหลาย แสดงความยินดีไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ จน…เมื่อเราถามความรู้สึกเด็กที่พาไปชนะได้ที่ ๑ มาว่ารู้สึกอย่างไง เด็กตอบกลับมาทำให้สะเทือนใจไปเลย “ไม่รู้สึกอะไรเลยค่ะ ธรรมดาปกติ” ผมถามซ้ำอีกรอบ “ไม่ดีใจเลยเหรอได้ที่๑มาเลยนะ” เด็กตอบให้สะเทือนหนักเข้าไปอีก “ไม่ดีใจเลยค่ะ รู้สึกเหมือนไม่ได้ทำอะไรเลยก็ชนะแล้ว” …..ผมอิ้งไปเลยครับ ภาพการทำงานช่วงประกวดที่ผ่านมามันแวปวิ่งวนเข้ามาในหัวหมดเลยตั้งแต่ตอนเริ่มรับคำสั่งมาจากนายไปจนถึงการประกวดเสร็จสิ้น…..

ผมกลับมานั่งคิดทบทวน คิดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า เราทำอะไรอยู่? ประกวดไปเพื่ออะไร? แล้ว “เด็กได้อะไร” …..คำถามเกิดขึ้นมากมายในหัว คำตอบทางเลือกมีมายมายหลายเส้นทาง….จุดประสงค์ของการจัดการแข่งขันของผู้จัดการประกวดคืออะไร? จุดประสงค์ของผู้ส่งเข้าประกวดคืออะไร? และเด็กเข้าใจและเต็มใจในการเข้าประกวดไหม? สิ่งเหล่านี้ผมไม่เคยนึกถึงเลย นึกแต่ผลลัพธ์ที่จะได้ตามมา……

หลังจากการประกวดครั้งนั้นกับคำถามที่เจอมาและคำตอบที่ได้รับของเด็กและของตัวผมเอง แนวความคิดในการทำงานประกวดของผมเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ไม่มีการบังคับ ไม่มีการจัดฉาก ไม่มีการจัดเตรียม ไม่มีการเอาใจใครทั้งสิ้นไม่ว่านายจะสั่งมา บังคับมาถ้าไม่ตรงตามแนวความคิดหรือใช้แนวความคิดของผม ผมไม่ทำ ไม่ส่ง และไม่ร่วมเด็ดขาด ถ้าอยากได้เชิญครูท่านอื่นทำแทนผมได้เลย แนวทางนั้นคือ …

ถ้ามีการประกวดเข้ามา จะประชาสัมพันธ์การประกวดให้นักเรียนทราบก่อนทั่วทั้งโรงเรียน
เขียนชื่อครูผู้ควบคุมไว้หลายๆคน (ที่ร.ร.ผมมี ๒ คน) เพื่อให้เด็กเป็นคนเลือกครูผู้ควบคุมตามใจชอบ
ถ้าเด็กมาเลือกผมหรือมีความสนใจในการประกวด ผมก็จะให้ทำรายงานเกี่ยวกับหัวข้อประกวดนั้นๆก่อนเลย (ค้นคว้าข้อมูล research) ถึงขั้นตอนนี้มีเด็กถอยออกไปหลายคยอยู่แต่ผมก็ตามกระตุ้นก่อนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ
ต่อมาเมื่อเด็กมีความสนใจค้นคว้าข้อมูลมาแล้วเราก็มานั่งคุยกันว่าได้ข้อมูลอะไรมาบ้างตอบถามตั้งข้อสงสัยตั้งสมมุติฐานในเรื่องนั้น (วิเคราะห์ปัญหา analysis)
เมื่อเด็กและครูมีความคิดเห็นที่ตรงกันแล้วถึงจะเริ่มทำงานกันได้ ขั้นต่อมาคือการให้เด็กสรุปและบรรยายสิ่งที่รู้และเข้าใจหรือสิ่งที่ต้องการจะถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสืออย่างย่อ สรุปใจความสำคัญ (summary and report)
เมื่อนักเรียนเข้าใจในหัวใจของเรื่อง เข้าใจในสิ่งที่ต้องการจะถ่ายทอด เข้าใจในความต้องการของตนเอง ถึงจะให้เด็กลงมือร่างภาพแปลงจากตัวหนังสือเป็นภาพวาด (sketch)
เมื่อร่างภาพแก้ไขจนทั้งครูและเด็กพอใจเข้าใจตรงกันโดยครูเป็นคนแนะนำถึงเหตุผลในการแก้ไขอยู่เสมอและรู้จักรับฟังเหตุผลของเด็กก่อนว่าทำไมถึงวาดแบบนั้นตรงนั้นก่อนที่จะให้เด็กแก้งานโดยไม่รับฟังความคิดของเด็กก่อนอย่าลืมว่า “มันคืองานของเด็กไม่ใช่ของครู”
และขั้นตอนสุดท้ายการลงมือปฎิบัติลงสี (printing) ปล่อยให้เป็นไปตามใจเค้า ฝีมือเค้า คอยสนับสนุน ตอบคำถาม ให้กำลังใจเค้า เมื่อเค้าต้องการคำตอบ หรือเสริมความมั่นใจของเค้า…ผลงานก็จะเสร็จเองไม่ว่าจะ เต็มร้อยหรือไมาก็ตาม…

ช่วงขั้นตอนที่กล่าวมาทั้งหมดแม้จะใช้เวลานานและวุ่นวาย บางครั้งผมใช้เวลาเป็นเดือนๆในการทำขั้นตอนนี้ แต่ผลที่ได้รับนั้นจะทำให้เด็กมีความเข้าใจ รับรู้ถึงแรงบันดาลใจในการทำงาน สามารถเข้าใจตัวเองว่าทำไปเพราะอะไร มีเหตุมีผล และสามารถอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างท่องแท้และกล้าที่จะแสดงความคิดของตัวเอง จนตัวผมเองยังตกใจในการพัฒนา ถึงแม้ว่าจะมีเด็กบางคนไม่สามารถก้าวข้ามมาในสิ่งที่ผมต้องการให้เค้าเข้าใจได้ ผมก็ยังคงให้ทำตามใจชอบของเค้าเองอยู่ดีถึงแม้ว่ามันจะไม่ดีผมก็ไม่ว่าและไม่แก้ไขให้ถ้าเค้ายังไม่เข้าใจและหวังว่าครั้งหน้าจะเข้าใจในสิ่งที่ผมต้องการจะบอกเค้า บางคนกระโดดข้ามขั้นตอนไปก็มี หายหน้าหายตาไปเลยก็มีหรือโผล่มาช่วงท้ายๆใกล้จะหมดเวลาแล้วก็มี ไม่เป็นไรขอแค่ให้เค้าตั้งใจมาเองผมรับหมดส่งหมด
และเมื่อเค้าได้รับรางวัลมาไม่ว่าจะรางวัลอะไรก็ตามเค้าจะภูมิใจ ดีใจ และเห็นคุณค่าของงานที่ลงมือลงแรงไป บอกกล่าวอย่างภาคภูมิใจต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู เพื่อน พี่น้องว่า “นี้คืองานที่เค้าตั้งใจทำและภูมิใจ”

image

ครูหนุ่ม
๒๒ ก.ค. ๒๕๕๖

ปิดความเห็น บน การประกวดแข่งขันวาดภาพ? ได้อะไร? ใครได้? more...

เรากำลังทำอะไร?

by on ก.ค..18, 2013, under ครูหมีขี้บ่น

3-126

คนที่เป็นผู้ใหญ่รวมทั้งตัวผมซึ่งเป็นครูและคุณครูอีกหลายๆท่าน เมื่อเห็นเด็กนักเรียนอยู่ในโรงเรียนที่มีตึก อาคารสถานที่ที่ดี มีความพร้อมของอุปกรณ์ นักเรียนแต่งกายด้วยชุดนักเรียนขาวสะอาด เรียบร้อย ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส สนุกสนานร่าเริง มีมารยาทงาม จิตใจดี มีความตั้งใจในการเรียนที่ดี ผลการเรียนดี …..สิ่งต่างๆเหล่านี้ ก็จะทำให้นึกถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กนักเรียน ครอบครัวที่อบอุ่น มีความสุข เพียบพร้อมทั้ง อาหารเครื่องนุ่งห่ม และสิ่งของเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต  ซึ่งเมื่อมาอยู่แรกๆ ผมก็เข้าใจแบบนั้นตามสิ่งที่เห็นตรงหน้า เมื่อมีนโยบายของนายกฯ ให้ครูออกเยี่ยมบ้านของนักเรียนในความดูแลของคุณครู ความจริงที่เห็นแทบสลายหายไปในทันที….

เมื่อตอนที่ผมมาบรรจุที่นี้ใหม่ๆ ในการเรียนการสอนเด็กไม่ค่อยเข้าใจ บางคนผสมสียังไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ แต่ผมก็เข้าใจว่าเพราะที่นี้ไม่เคยมีครูศิลปะมาก่อนเลยอาจจะยังไม่ค่อยมีความรู้ทางด้านศิลปะก็เป็นได้ แต่เมื่อผมได้ออกเยี่ยมบ้านนักเรียนครั้งแรกในชีวิตความเป็นครูที่โรงเรียนสุขไพบูลย์วิริยะวิทยา…..ทำให้ผมเปลี่ยนความคิดและวิธีการสอน เทคนิคการสอนของผม แทบจะฉีกตำราทิ้งไปเลย เพราะอะไร? เพราะก่อนมาเป็นครูที่นี้ผมเป็นครูอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี วิทยาลัยซึ่งมีขนาดใหญ่พิเศษ นักเรียนร่วมๆ 6,000 คน ได้พบเจอกันนักเรียนที่มีความเป็นอยู่ปกติ คือมีกินมีใช้ตามที่เห็น มีพ่อแม่ที่เป็นคนชั้นกลาง ข้าราชการ จนไปถึงระดับลูกคนรวย บางคนถึงขั้นฟุ่มเฟือยเลยด้วยซ้ำ การเรียนการสอนนั้นเป็นไปด้วยความรวดเร็ว นักเรียนเข้าใจง่ายในสิ่งที่สอน มีสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและสังคมแวดล้อมด้วยความเจริญก้าวหน้าและเทคโนโลยีทำให้เด็กมีความรู้ทั้งจากครูสอนและสังคมรอบข้างเป็นคนสอนไปในตัว การยกตัวอย่าง อ้างอิง ค้นคว้าและศึกษาหาความรู้นอกห้องเรียนเพื่อนำกลับมาใช้ในห้องเรียนเป็นไปด้วยความง่ายดาย การเรียนการสอนไหลลื่น วัสดุ อุปกรณ์เมื่อสั่งอะไรไปก็มีกำลังซื้อหามาใช้เรียนได้ตามปกติ ตามชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี แต่ที่นี่…..สิ่งที่เจอมาทุกอย่างใช้ไม่ได้……

แรกๆ เมื่อเข้าชั้นเรียน เด็กๆ ตื่นเต้นในการเรียนวิชาศิลปะ เพราะอยากวาดภาพระบายสี ผมสั่งให้นักเรียนนำสีไม้ สีโปสเตอร์ ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัดมาเรียน ก็มีมาเรียนตามปกติ มีบางคนไม่ได้เอามาก็ใช้ของเพื่อนได้อย่างมีน้ำใจไมตรี แบ่งปันกันใช้อย่างน่ารักน่าเอ็นดู หลังจากนั้นเมื่อสีไม้หมด สีโปสเตอร์หมด กระดาษหมด ถึงได้เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติ เริ่มไม่มีคนเอาสีมาเรียน เริ่มไม่มีคนเอากระดาษมาวาด เริ่มไม่มีดินสอ ปากกา จนกระทั่งแทบจะไม่มีคนเอาอุปกรณ์มาวาดภาพระบายสีอีกเลย แรกๆผมก็โกรธ ทำโทษ ตัดคะแนน และว่ากล่าวในเรื่องของความรับผิดชอบในการเรียนของนักเรียน แต่แล้วมีเด็กคนหนึ่งนั่งโดนผมว่าเรื่องไม่เอาอุปกรณ์มาเรียนเป็นประจำ นั่งก้มหน้าก้มตาฟังผมว่ากล่าวอบรมเมื่อผมถามถึงอุปกรณ์ที่ไม่ได้เอามาก็บอกแต่ว่า “ลืม” “ไม่ได้เอามา” “อยู่ที่บ้าน” “ยังไมได้ซื้อ” ผมก็ยิ่งว่ากล่าวอบรมต่อไปอีกและโดนผมตัดคะแนนไป จนกระทั่ง…..ท้ายชั่วโมงผมถามเพื่อนของเค้าว่า “ทำไมเค้าเป็นแบบนั้น” คำตอบจากเพื่อนเค้าทำให้ผมหน้าชาและเสียใจมาจนทุกวันนี้ “เค้าไม่มีเงินซื้อครับครู”

img_6629

ผมนี้ไม่มีความเป็นครูเลยจริงๆ เสียใจมาก ทำไมเราถึงไม่สังเกตให้ดีหรือสอบถามให้ชัดเจน ความอายของเด็ก ความกลัวของเด็ก การแก้ปัญหาของเด็กนั้นไม่มีอะไรง่ายไปกว่าการไม่พูดความจริง ทำไมผมถึงคิดไม่ได้ คิดอยู่อย่างเดียวคือ “เชื่อ” ว่าเด็กคนนั้นไม่เอามาเรียน ลืมไว้บ้าน และขี้เกียจแบกขวดสี กล่องสีมาเรียน เมื่อถึงช่วงออกเยี่ยมบ้านนักเรียนในเทอม 2 ผมไปเยี่ยมบ้านนักเรียนคนนี้ ไปเห็นสภาพบ้านของเค้า ครอบครัวของเค้า ชีวิตความเป็นอยู่ของเค้าที่บ้าน ผมแทบร้องไห้โฮออกมาเลย สะเทือนใจมาก  บ้านเป็นเหมือนเพิงตามคันนา มีไม้ไผ่มาผ่าซีกแปะๆเป็นผนังบ้านหลังคามุงด้วยสังกะสีเก่าๆ ใบจากและเศษไม้ต่างๆ พอกันแดดกันฝนได้ เมื่อไปถึงบ้านไม่มีผู้ใหญ่อยู่อยู่สักคน มีเพื่อนน้องประถมตัวเล็กๆ วิ่งเล่นอยู่หน้าบ้าน 2 คน สอบถามเด็กก็รู้ว่าพ่อ แม่ไปทำงานยังไม่กลับ ผมเลยนั่งรอ ระหว่างนั่งรอเด็กเอาน้ำใส่ขันมาให้ ผมนั่งคิดอยู่ตั้งนานว่าครั้งสุดท้ายที่ดื่มน้ำจากขันแบบไม่เย็นไม่มีน้ำแข็งนี้เมื่อไร…..คงตั้งแต่สมัยอยู่กับยายที่บ้านนอกสมัยเด็กๆเท่าเค้าเลย มันยิ่งสะเทือนใจจนผมแทบจะร้องไห้ออกมาจริงๆ นี่มันกี่ปีผ่านมาแล้วไม่น่าเชื่อว่ายังคงเป็นแบบเดิมอยู่….พอเอาน้ำให้ผมเสร็จ เด็กนักเรียนก็วิ่งไปเปลี่ยนชุดเอาชุดนักเรียนออกมาแช่น้ำเตรียมซัก….คิดเอาครับว่าเพราะอะไร ผมเข้าใจในทันที แช่เสื้อผ้าเสร็จก็ มาหุงข้าวก่อเตาฟืนจากเศษไม้หุงข้าวหม้อดำปี๋เลย ในตอนนั้นภาพนั้นมันติดตาผมมากแม้ตอนนั้นผมจะพกกล้องไปด้วยแต่ไม่สามารถนำกล้องขึ้นมาถ่ายได้จริงๆ มันบอกไม่ถูกเลยว่าจะถ่ายไปทำไมเพื่ออะไรกับภาพตรงข้างหน้าที่เห็น แม้แต่ภาพบ้านของเด็กผมก็ไม่ได้ถ่ายมาด้วยมันบอกไม่ถูก รู้แต่ว่าจำติดตาเลย….นั่งดูเด็กเค้าหุงข้าว ซักผ้า ดูน้องเค้าวิ่งเล่นบนลานดินแดงๆ ผมนั่งอยู่แคร่ไม้ไผ่หน้าบ้านนานเท่าไรจำไม่ได้เลย รู้แต่ว่าแทบไม่มีคำพูดอะไรออกมาจากปากของผมเลย ได้แต่นั่งมองให้เวลามันผ่านไปเรื่อยๆ นั่งคิด นั่งพิจารณาตัวเอง ว่าตัวเรากำลังทำอะไร….ความสดใส ความร่าเริง ชุดนักเรียนที่ขาวสะอาด สิ่งที่เราเห็นที่โรงเรียนมันชั่งต่างกันมากมายเลยจริงๆ

04

หลังจากวันนั้นและอีกหลายๆวันต่อมาเมื่อได้ไปเยี่ยมบ้านครบทุกคน สิ่งที่ผมเห็น ที่ได้เจอ สิ่งที่ได้คุยกับพ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนหลายๆคน ได้เปลี่ยนความคิด วิธีสอน วิธีการใช้ชีวิตและการอยู่เพื่อเป็นครูที่ดีทำประโยชน์ต่อเด็กให้มากที่สุด ทุ่มเทให้มากที่สุด มอบแต่สิ่งที่ดีให้ ต่อสู้ดิ้นรนในการแสวงหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ มาให้เด็กได้ใช้มากที่สุด เน้นกระบวนการคิดมากกว่ากระบวนการสั่งงาน เน้นสิ่งของรอบตัวมากกว่าวัตถุไกลตัว เน้นการใส่ใจในชีวิตของเด็กที่บ้านมากกว่าที่โรงเรียน เน้นการพัฒนาตนเองเพื่อการดำรงชีวิตและสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนเพื่ออนาคตมากกว่าผลการสอบวัดผลโอเน็ตบ้าบอคอแตก เน้นการลงมือปฏิบัติแล้วนำผลงานนั้นไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงมากกว่าการนำผลงานไปโชว์ เน้นความเป็นคน ความเป็นตัวตน อิสระทางความคิดมากกว่าโดนจูงจมูก เน้นการดูมากกว่าการจำ เน้นความสนุกสนานในการเรียนมากกว่าความกลัวในการเรียน เน้นสิ่งที่นักเรียนชอบมากกว่าครูชอบ และสุดท้ายเน้นตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ที่นี้ บอกตัวเอง สอนตัวเองทุกวัน ว่าเรามาทำอะไร มีประโยชน์อะไร และจะทำอะไรให้มันดีขึ้นได้บ้างไม่ต้องไปสนใจใครที่ไม่ทำ บอกตัวเองว่าตัวเองทำเองเป็นพอ สุขใจเองพอ มีความสุขทุกครั้งที่เห็นเด็กนักเรียนหัวเราะ ร่างเริงในชั้นเรียนของเรา……

05

ครูหนุ่ม

18 ก.ค. 2556

ปิดความเห็น บน เรากำลังทำอะไร? more...

การซ่อมบำรุงเครื่อง Printer Canon mp140

by on พ.ค..22, 2013, under ครูหมีขี้บ่น

การซ่อมเครื่อง Printer Canon mp140

default_mp1401

เครื่อง Printer canon mp140  เป็นเครื่อง print ที่ติดแท็งค์แล้วทนที่สุดเท่าที่ผมเคยใช้มา (หาซื้อไมไ่ด้แล้ว)ปกติอายุอานามเครื่อง Print จะใช้ได้ไม่เกิน 1 ปี ถ้าดูแลและใช้งานบ่อยๆ และอาจจะพังภายใน 1 เดือนแล้วยกไปซ่อมให้โดนค่าโง่ทีละ 800-1200 บาท (เหมือนเครื่อง Print Canon mp287 ที่ซื้อใช้ได้เดือนเดียวพัง) ทุกวันนี้ผมใช้มา 2 ปีกว่าแล้วยังใช้ได้ดีไม่มีเสีย ไม่มีลายเส้นขาด ไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น สุดยอดมาก เท่าที่เจอปัญหาจะรวบรวมวิธีแก้ไว้ที่นี่จากท่านๆ ครูใน internet ทั้งหลายนำมาเล่าบอกต่ออีกทีครับ อ่าต่อกดเลยครับ

(continue reading…)

ปิดความเห็น บน การซ่อมบำรุงเครื่อง Printer Canon mp140 more...

ทำไมถึงอยากเป็นครู (บทที่ ๑ วัยเด็ก)

by on เม.ย..03, 2013, under ครูหมีขี้บ่น

โครงเรื่องนี้ร่างไว้ตั้งแต่ วันที่ ๘ กรกฏาคม ๒๕๕๔ ( ๒ ปีที่แล้ว) ตั้งใจไว้ตั้งแต่ตอนได้บรรจุใหม่ๆ ว่าจะเขียนลง blog ไว้ แต่พอได้เริ่มทำงานก็ยังค่อนข้างสับสนของบทบาทตัวเองและท้อแท้กับการทำงานในบทบาทนี้ในบางครั้ง แต่ !!! ณ วันนี้ ๓ เมษายน ๒๕๕๖ ผมพร้อมแล้วที่จะเล่าให้ฟังเรื่องราวทั้งหมด ซึ่งคงจะมีราวๆ ๓ บท วัยเด็ก วัยเรียน วัยทำงาน

บทที่ ๑ วัยเด็ก

มีคนถามผมว่า “ทำไมอยากเป็นครู”

“เป็นครูเพราะเงินเดือนดีใช่ไหมล่ะ”

“เป็นครูเพราะตอนนี้เค้ารับเยอะใช่ไหมล่ะ”

“เป็นครูเพราะว่างานสบายใช่ไหมล่ะ”

อีกหลายๆสิ่งหลายอย่างที่ถูกคนรอบข้างถามมา คนที่เป็นเพื่อนสนิทก็จะรู้ว่าตัวผมนั้นตั้งใจในการเป็นครูมานานแล้ว คนที่เป็นญาติพี่น้องก็จะสนับสนุนให้ครอบครัวตัวเองได้ดีอยู่แล้ว แต่คนที่ไม่รู้ก็จะมองว่า ไอ้นี้มันอยากเป็นครูไม่ดูสารรูปตัวเองเลย หรือ มันจะเป็นครูได้ไงวะทำตัวแบบนี้ (จากภายนอกที่เห็นผม) หรือคนที่อยากรู้ว่าการที่จะเป็นคนในบทบาทของครูนั้น ควรจะคิดอย่างไร เริ่มอย่างไง หรือคนที่กำลังสับสนในความต้องการของตัวเองอ่านไปแล้วอาจจะได้ประโยชน์บ้าง (ถ้ามีคนอ่านง่ะนะ เหอๆๆ ผมจะไม่ใช่คำว่า “อาีชีพครู” เพราะว่า คำว่าอาชีพนั้นคือทำงานเพื่อที่จะได้รับค่าตอบแทน แต่ บทบาทครูนั้น มันเป็น มากกว่านั้น!!!)

(continue reading…)

ปิดความเห็น บน ทำไมถึงอยากเป็นครู (บทที่ ๑ วัยเด็ก) more...

โรงเรียนสุขไพบูลย์วิริยะวิทยารับการประเมินภายใน (SAR)

by on ก.พ..27, 2013, under ครูหมีขี้บ่น

image

โดยกระผมรับผิดชอบมาตรฐานที่๒๑ ผู้เรียนมีสุนทรีภาพและลักษณะนิสัยด้านศิลปะ ดนตรี และกีฬา
ตัวบ่งชี้ที่ ๒๑.๑ ชื่นชม ร่วมกิจกรรม และมีผลงานด้านศิลปะ
โครงการ/กิจกรรม/หลักฐาน
๑.กิจกรรมชุมนุมศิลปะ
๒.กิจกรรมการเรียนรายวิชาเพิ่มเติม (ศิลปะ)
๓.ผลงานด้านศิลปะของนักเรียนที่ได้รับรางวัลต่างๆ
๔.กิจกรรมวาดภาพประกวดแข่งขันภายในโรงเรียนตามวาระโอกาสต่างๆ
๕.กิจกรรมวันศิลปะ
๖.กิจกรรมค่ายศิลปะ
๗.โครงงานศิลปะ
๘.กิจกรรมการอบรมเพิ่มความรู้นอกสถานศึกษาของนักเรียนและครูผู้สอน
๙.แผนการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ
๑๐.งานวิจัยและเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ

ปิดความเห็น บน โรงเรียนสุขไพบูลย์วิริยะวิทยารับการประเมินภายใน (SAR) more...

แข่งทักษะวิชาการโรงเรียนในสังกัด อบจ.นครราชสีมา

by on ก.พ..22, 2013, under ครูหมีขี้บ่น

image

วาดภาพได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ๒
โครงงานได้รางวัลชมเชย
เมื่อวันที่ ๒๒ ก.พ. ๒๕๕๖

ผิดหวังกับโครงการนิดหน่อยดูจากคู่แข่งแล้วน่าจะติด ๑ ใน ๓ แต่หลุดมา ๔ ๕ เลย อยากรู้จริงๆว่าพลาดอะไรไปบ้าง

ส่วนวาดภาพปีที่แล้วได้ที่ ๕ ปีนี้ขึ้นมาอันดับ๓ ถือว่าพัฒนาคุ้มค่ากับความตั้งใจ ภูมิใจตัวเอง^^

ปิดความเห็น บน แข่งทักษะวิชาการโรงเรียนในสังกัด อบจ.นครราชสีมา more...

ออกค่ายอาสาโรงเรียนประโคนชัย บุรีรัมย์

by on ก.พ..16, 2013, under ครูหมีขี้บ่น

image

โรงเรียนประโคนชัยเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่การไปค่ายครั้งเลยแลดูเหมือนการไปดูงานมากกว่าออกค่ายอาสาเพราะโรงเรียนมีความพร้อมอยู่แล้ว แค่สิ่งที่ได้รับมานั้นซึ่งตอนแรกมองว่าเลือนลางเหลือเกินกลับกลายเป็นได้มุมมองดีๆเยอะเลย การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องมาจากสิ่งดีๆเสมอไป เรียนรู้จากสิ่งที่ไม่ดีก็สามารถทำได้แค่หามุมมอง ไว้โอกาสเหมาะๆจะเล่าให้ฟัง พิมพ์จากมือถือไม่สะดวกเลย…

ปิดความเห็น บน ออกค่ายอาสาโรงเรียนประโคนชัย บุรีรัมย์ more...

รู้หน้าไม่รู้ใจ

by on มิ.ย..11, 2012, under ครูหมีขี้บ่น

อสรพิษนั้นมีอยู่ทั่วทุกทิศ เพียงน้อยนิดพิษนั้นแสนสุดรักษา
เมื่อสัตว์นั้นดุร้ายสุดพรรณนา ไม่ควรหาควรพบประสบเจอ
แต่สัตว์นั้นดันกลายเป็นมนุษย์ เกิดสะดุดขัดขวางสร้างปัญหา
มันจึงฉกพ่นพิษแสบกายา แล้วจ้องหาความใส่เราให้แค้นใจ

ต่อหน้านั้นทำตัวเหมือนเป็นมิตร พอมิดชิดกลายร่างเป็นสัตว์หาง
อ้างกล่าวถึงความชั่วมิตรทั่วกาล บอกเล่าขานความดีแต่ของตน
แสนสุดทนมนุษย์จิตใจสัตว์ ถนัดนักเรื่องลอบกัดเลียแข้งขา
ความนึกคิดขอเพียงให้ได้มา ความก้าวหน้าของตนไม่สนใคร……..

ครูหนุ่ม๐๑

สัตว์เมื่อรวมฝูงกันก็จะแย่งกันเป็นใหญ่ แต่และตัวก็จะพยายามโชว์ความโดดเด่นของตัวเองให้สัตว์ตัวอื่นด้อยกว่าตัวมัน เมื่อโชว์กันไปสักพักก็จะเริ่มแบ่งฝูงย่อยรวมตัวกันฆ่าตัวที่ดูอ่อนแอที่สุดหรือเข้มแข็งที่สุดก่อนเพื่อลดจำนวนคู่แข่งและสุดท้ายก็จะฆ่ากันเองเพื่อตัวเอง ตัวที่รักสงบก็จะรู้รักษาตัวรอดเพื่อใช้ชีวิตอยู่อย่างให้คุ้มค่าไม่ทะเลาะแบะแว้งกับตัวไหนจนเมื่อมันสะสมกำลังวังชาและเรียนรู้วิถีชีวิตดีแล้วมันก็จะใช้ความสามารถนั้นสร้างฝูงของตัวเองและเลือกที่จะอยู่อย่างสงบภายในฝูง สุดท้ายพวกสัตว์เหล่านั้นในฝูงเก่าก็จะค่อยๆตายและล้มเจ็บโดยไม่มีตัวไหนช่วยเหลือเลย ….อนิจจา มนุษย์นั้นก็เป็น “สัตว์”
ครูหนุ่ม๐๒

คนล้มต้องเหยียบซ้ำ คนอิจฉาจ้องทำลาย คนก้าวหน้าต้องขัดขวาง คนริษยาไร้น้ำยา คนได้หน้าคือคนเลีย คนทำงานไม่เห็นมอง คนอยู่รอดคือต้องทน…..

ครูหนุ่ม๐๓

ปิดความเห็น บน รู้หน้าไม่รู้ใจ more...

Fonts ปัญหาโลกแตกของนักออกแบบในเครื่องคอมพิวเตอร์

by on ส.ค..07, 2011, under ครูหมีขี้บ่น

          Fonts คืออะไร? มันก็คือ แบบอักษร นั้นเอง หรือเรียกง่ายๆว่าตัวหนังสือที่เราๆ ท่านๆ ใช้ สื่อสารกันนี้ล่ะ แต่เมื่อยุคคอมพิวเตอร์เข้ามามีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะคนทำงาน office หรือ ข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา คงจะหนีไม่พ้นเรื่องงานเอกสารที่ต้องทำจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ยิ่งเป็นพวกที่เรียนหรือทำงานทางด้าน ออกแบบ ทั้งหลาย ยิ่งต้องใช้แทบทุกวัน ทุกครั้ง ทุกเวลาไม่ว่าจะด้วยการเขียนด้วยมือ หรือใช้คอมพิวเตอร์

          ตัวผมนั้น เกิดและโตขึ้นมาในยุคที่เครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่งจะเริ่มใช้งานกันอย่างกว้างขวาง คือสักตอนอายุ 7-8 ขวบ ที่บ้านก็เริ่มมีเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกมาใช้ ตอนนั้นยังคงจอสีเขียวๆ เครื่องละเป็นแสนบาท จริงเปล่าไม่รู้ฟังเค้าบอกมา แล้วมีเงินซื้อได้ไงว้าที่บ้านไม่ค่อยจะมีเงินนะตอนนั้นเท่าที่จำได้เป็นแค่ข้าราชการจนๆ แต่พอหลังจากนั้นผมก็รุ้ว่าคงจะเป็นไปได้เพราะว่าไม่นานนัก คุณน้าน้องคุณแม่ที่เป้นทหาร ก้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ของ IBM มาใช้งานที่บ้านเครื่องละ แสนกว่าบาทจริงๆ (เค้าซื้อมาเพื่อทำงานเกี่ยวกับบัญชีการเงิน) ส่วนตัวผมนั้นก็ได้อนิจสงตามไปด้วยเพราะว่า อยากจะเล่นเกมแค่นั้นเอง ไอ้เครื่องจอเขียวมันไม่ค่อยมีเกมให้เล่นมากเท่าไร เป็น DOS อยู่เลยแต่เครื่องที่น้าซื้อมาใหม่เป็นจอสวยงามแล้ว เป็นวินโด 3.1 มั่งถ้าจำไม่ผิด เกมก็เริ่มมีความสวยงามมากขึ้น จำได้เลย นั่งรถเข้า กทม เพื่อไปซื้อเกม Simcity ที่ เซ็นทรัลลาดพร้าวกับพี่ชายแล้วก็รีบนั่งรถกลับมาบ้านที่ลพบุรีเพื่อเล่นเกม เหอๆ มานะจริงๆ ….แล้วเล่าทำไม อ่า อืม ก็เล่าเพราะว่าจะบอกว่าผมโตมาเป้นเด็กสองยุคจริงๆนะสิ คือ กำกึ่งระหว่างไม่มีคอมพิวเตอร์กับมีเครื่องพิวเตอร์แล้ว เพื่อบางคนที่ม่เข้าใจจะนึกไม่ออก ซึ่งส่วนนั้นผมก็เริ่มพิมพ์เอกสารเองแล้วตอนสัก ประถม 5-6 แล้วพิมพ์ออกมาด้วยเครื่องพิมพ์เข็ม โดยใช้โปรแกรมที่พิมพ์ตอนนั้คือ เวิร์ดจุฬา

 


ใครสนใจลองไปอ่านประวัติกันดูได้ครับที่ Link ทำไว้ที่ชื่อแล้ว


          หน้าจอดำๆ ตัวหนังสือ หลากสีสันเหลือเกิน ในหน้าจอง่ะนะ แต่พอพิมพ์ออกมาก็เป้นตัวสีดำสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อยดี นั้นคือที่ผมเริ่มเข้าใจคำว่า Fonts และเป็นเหตุผลให้สนใจในคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่ยุคแรกๆ เพราะว่า มันเท่ดีเวลารายงานไปส่งครูที่โรงเรียนโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์พิมพ์มา และอยากเปลี่ยน Fonts ให้มันสวยงามหลายๆ แบบ

          พอโตขึ้นมาและได้เลือกเรียนทางด้านศิลปะ ก็นี้ไม่พ้นเรื่องตัวหนังสือ อักษรต่างๆ ในช่วงนั้นมีการต้องใช้ตัวหนังสือเยอะในเรื่องของการเขียนแบบ หรือ design ผลิตภันณ์ต่างๆ และต้องมี detail sketch ของ idea ต่างๆของเราที่เรานำมาออกแบบ มันต้องเขียนตัวหนังสือเยอะมากมายไปหมดเลย บางครั้งก็เขียนสวย บางครั้งก็เขียนไม่สวย ปกติก็เป็นคนลายมือไม่สวยอยู่แล้ว จนเริ่มมีการใช้แบบตัวอักษรสำเร็จรูปที่เป็นไม้บรรทัดและมีเครื่องมือในการลากเส้นตาม พยายามนั่งนึกและหารูปตั้งนานหาไม่เจอว่ามันเรียกว่าไร หน้าตาง่ะพอนึกออก นานมากแล้ว จะเป้นไม้บรรทัดคล้ายๆ สเกล แต่มีตัวหนังสือที่เป็นร่องลึกไว้สำหรับใช้ เครื่องมืออะไรสักย่างของชุดเขียนแบบของ ล็อตติ่ง ในการจับปากกาแล้วลากตามร่องลึกนั้นแล้วปากกาก็จะเขียนตามแบบไปเอง สวยงาม….พอเข้าใจไหมครับ แล้วมันจะมีหลายแบบหลายขนาดทำออกมาเราก็บ้าซื้อกันเพราะว่าตัวหนังสือจะได้มีหลายๆแบบสวยงาม เหอๆๆ …นั้นก็เรียกว่า Fonts

          พอเข้าสู่ยุคของเครื่องคอมพิวเตอร์ ผมก็หักเหตัวเองไปเรียนทางด้านออกแบบคอมพิวเตอร์กราฟฟิกเพื่อให้ทันต่อยุคสมัยและหน้าที่การงานในอนาคต มุ่งเข้าสู่เมืองมหานคร ไปตอนเรียนตอนแรกงานชิ้นที่ทำออกมาผมใช้การระบายสีด้วยมือไปส่ง อาจารย์ ตอนนั้นเป็นงาน ออกแบบโปสเตอร์อะไรสักอย่างนี้ล่ะจำไม่ได้ แต่เพื่อนรวมห้องตอนนั้นใช้คอมออกแบบมาส่งแล้ว รู้สึก อายเพื่อนๆ เพราะว่าใช้มือระบายสีมันก้มีข้อจำกัดหลายอย่างทั้งในเรื่องของ ภาพที่ดูไม่สมจริง ตัวหนังสือที่เขียนไม่สวย และความรวดเร็วในการทำงาน

          ก็เลยไปอ้อนคุณแม่ บอกถึงความจำเป็นจริงๆ คุณแม่ให้เงินมาซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของตัวเองในชีวิต ด้วยราคาเกือบ 60,000 บาท ซื้อเองกับมือทุกชิ้นแยกเป็นชิ้นแล้วมาให้น้าประกอบ ได้ Pentium 3 500 Hz กับ RAM 128 MB และ VGA GF2 ซึ่งทุกวันนี้เครื่องนี้ยังไม่พังเลยยังใช้งานได้อยู่แต่ ปลดระวางแล้วเพราะความเร็วที่ต่ำและบริโภคไฟสูงมาก ฮ่าๆ ตอนได้เครื่องมาใหม่ก็ซุกซนมาก รื้อๆ ถอดๆ ลองโปรแกรมโน่น โปรแกรมนี้ ลง OS เอง ประกอบเอง จนคล่องและเป็นเครื่องครูของผมเลย เคยทำมันพังไปครั้งเพราะว่าไฟมันช็อด บอร์ดพังเลยดีนะอยู่ในประกันเอาเครมได้ไม่งั้น มีเศร้ายาว พอได้เครื่องมาก็เริ่มฝึกฝนใช้โปรแกรมจนคล่อง สมัยนั้นไม่มีหนังสือ ไม่มีผู้รู้มากนัก การเรียนรู้จึงเป้นเรื่องของการฝูมฝักลักจำ จากคนที่ใช้งานเป็นแล้ว เช่น ร้านอินเตอร์เน็ตหน้าโรงเรียน ร้านรับ print งานหน้าโรงเรียน นั่งดูรุ่นพี่ทำงานและสอบถามเป็นบางครั้ง จงจำไว้ว่ามนุษย์นั้น ถ้าเราไปสอบถามเค้ามากๆ เค้าจะลำคาญ แต่ถ้าเรานั่งดูและค่อยลักจำไปเองแล้วไปลองทำแล้วเกิดปัญหาจึงค่อยมาปรึกษา เค้าจะให้คำตอบมากกว่าไปนั่งถามเค้าว่า “ทำอย่างไง” “ขั้นตอนเป้นไง” เค้าจะไม่ค่อยอยากบอกหรือขี้เกียจจะบอก เราลองลงมือทำเองก่อนจะเรียนรู้ได้ไวกว่า นี้คือเหตุผลหนึ่ง ที่ตัวผมนั้นจะชอบลงมือทำเองมากกว่าทุกอย่างที่ตัวเองทำได้ ถ้ามีปัญหาแล้วเราถึงค่อยไปปรึกษาคนที่รู้แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีความรุ้มาล่วงหน้าเลยนะครับ เราต้องรู้จักศึกษาหาข้อมูลและความรู้ ทดลองมาก่อนแล้วด้วย..

          แล้วมันเกี่ยวกับ Fonts อย่างไงฟ่ะ? ฮ่าๆ คนที่อ่าน (ถ้ามีนะเหอๆๆ) คงจะกำลังนึกอยุ่ว่าเล่ามาตั้งนานยังไม่เห้นเข้าเรื่องตามหัวข้อเลย “Fonts ปัญหาโลกแตกของนักออกแบบในเครื่องคอมพิวเตอร์” นี้ล่ะครับกำลังจะเริ่มเล่าแล้วหลังจาก ออกทะเลไปถึงอเมริกาแล้ว ฮ่าๆๆ เรื่องของ Fonts ของผมมันเริ่มจากตามที่เล่านั้นล่ะ คือเราเรียนด้านออกแบบและศิลปะมาตอนยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ไปเช่าใช้ตามร้านและลักจำมาเยอะใช้จนพอเป็นแล้ว แล้วพอได้คอมเครื่องแรกมาเราก็เข้าใจว่า Fonts ที่เราเคยหัดทำมาจากร้านคอมพิวเตอร์นั้น คงจะมีอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ยู่แล้วมั่งพอได้คอมพิวเตอร์มาเปิดเครื่องทำงาน และเริ่มออกแบบ ……”อ้าว Fonts ไปไหนหมดวะไม่เห็นมีเลยมีอยู่หยิบมือเอง????” นั้นคือปัญหาเริ่มต้น เก็บปัญหาคับข้องใจนี้ไว้ตอนเช้ารีบดิ่งไปร้านคอมพิวเตอร์หน้ามหาลัยเจ้าประจำ ถามเค้า “พี่ครับทำไมคอมผมไม่เห็นมี Fonts เหมือนร้านพี่เลยละครับ” เค้าตอบ “อ้อน้อง Fonts มันต้องติดตั้งเองครับไม่มีมาให้” อ้อ….ผมถึงได้บางอ้อว่า Fonts นั้นเราต้องหามาเองนี้เอง

          พอตกเย็นผมก็นั่งรถไป พันทิพย์ แหล่งอโคจร ทันที ที่ว่าแหล่งอโคจรเพราะว่าทุกสิ่งที่เกี่ยวกับของละเมิดลิขสิทธิ์ และผิดกฏหมายอยุ่ที่นั้นหมดเลย ในเมื่อผมต้องการไปหา Fonts และโปรแกรมต่างๆ ก็ต้องไปซื้อหาแผ่นที่นั้น ไปถึงก็เลือกๆ โดยไม่รู้มันเป็นไงมั่งใช้ไง รู้แต่ว่าเอามาลองก่อนน่าแล้วคงเข้าใจเอง พอกลับมาถึงห้องพัก ก็จัดการ copy Fonts ในแผ่นลงไปที่ เครื่องคอมพิวเตอร์เลยแบบตรงๆ ปรากฏว่าเปิดโปรแกรมทำงานขึ้นมา โปรแกรมยังมองไม่เห็น Fonts อีก…..นั่งลองอยู่ตั้งนานก็ยังไม่ได้ เก็บคำถามไว้ในใจต่อ ไปถามพี่เค้าวันรุ่งขึ้น “อ้อน้อง มันต้องลงให้ถูกวิธีด้วย โดยการ install News Fonts ให้ถูกต้องเครื่องมันถึงจะรู้จัก Fonts” อ้อ…….ผมก็เลยบางอ้ออีกครั้ง กลับมาห้องลองทำดู อ่า…สำเร็จโปรแกรมสามารถมองเห็นและใช้งาน Fonts ที่ลงไปใหม่ได้แล้ว ก็นั่งทำงานออกแบบไปอย่างสบายใจจนเสร็จ เอาไป print ที่ร้านแล้วก็เอาไปส่งอาจารย์ แต่…..

          พอไปส่งอาจารย์ อาจารย์ตำหนิมาอย่างแรงว่า “สระลอย” ???????? คือไรวุ้ย อาจารย์ก็อธิบายให้ว่า สระลอย คือการที่ สระและวรรณยุกต์ ต่างๆ ในภาษาไทยนั้นอยู่ในส่วนที่สูงเกินไปของข้อความ ทำให้ในทางออกแบบแล้วดูไม่สวยงาม และเป็นข้อผิดพลาดที่ นักออกแบบยึดถือกันมากๆ ซึ่งเกิดจากการที่คอมพิวเตอร์นั้นถูกออกแบบมาโดยภาษาอังกฤษ ซึ่งภาษาอังกฤษนั้นจะไม่มีสระและวรรณยุกต์ แต่พอมาเพิ่มภาษาไทย ภาษาไทยนั้นมีความซับซ้อนในเรื่องของการผสมสระและวรรณยุกต์มาก ที่เป็นปัญหาเลยคือการซ้อนกันของ สระและวรรณยุกต์สองตัวเช่น “นั้น” “อิ่ม” “สิทธิ์” เป็นต้น จะเห็นได้ว่า มี สระและวรรณยุกต์ ซ้อนกันสองตัวทำให้การเขียนโปรแกรมเพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่วางสระและวรรณยุกต์ ทับกันจนอ่านไม่ได้ จึงจำเป็นต้องให้ “วรรณยุกต์” นั้นขึ้นไปอยู่สูงสุดเสมอแม้มีแค่ตัวเดียว เช่น “ถ้า” “ว่า” “จ๋า” เป็นต้น

          แล้วทำไมถึงเรียกว่า “สระลอย” ว้า ทั้งที่จริงๆแล้วสิ่งที่ลอย คือ “วรรณยุกต์” ต่างหากฮ่าๆๆ ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน ในตอนนั้นสิ่งที่แก้ปัญหาของการออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์นั้น มีคนเขียนโปรแกรมออกมาแก้ไขตั้งหากสำหรับ บริษัท ห้างร้านที่ทำงานด้านออกแบบและสิ่งพิมพ์ที่รู้จักกันกว้างขวางเลยคือ ชุดโปรแกรม “ก.ไก่ 2000” หรือในปัจจุบัน kokai ก็ยังมีอยู่ ซึ่งเป็นโปรแกรมลิขสิทธิ์ เคยไปถามซื้อในตอนนั้น ราคาสุงมากถึง 4000-5000 บาท คงจะเอามาใช้ไม่ไหวสำหรับนักศึกษาอย่างเรา จนผมค้นพบวิธีทำให้สระไม่ลอยแบบง่ายๆ จากใครผมจำไมได้จริงๆ ว่าใครเป็นคนสอนผม นั้นคือการพิมพ์ “รหัสของตัวอักษร” ลงบนคีย์บอร์ดตามสระที่มีอยู่ในเครื่องแบบตายตัวทุกเครื่อง คือ กดปุ่ม Alt บนคีย์บอร์ดค้างไว้แล้วกดตัวเลขด้านขวามือของคีย์บอร์ดตามแล้วปล่อยปุ่ม Alt ที่กดค้างไว้ตัวสระและวรรณยุกต์ จะขึ้นมาแล้วจะขึ้นมาในตำแหน่งที่ถูกต้องโดยไม่มีการกลายเป้น “สระลอย” แต่อย่างใด วิธีกดก็ตามตารางข้างล่างนี้

 

 สระและวรรณยุกต์  อ่านว่า  วิธีกด
 ่  ไม้เอก  Alt+0139
  ้  ไม้โท  Alt+0140
  ๊  ไม้ตรี  Alt+0141
  ๋  ไม้จัตวา  Alt+0142
 ก์ การันต์  Alt+0143

 

 

          นั้นคือวิธีแก้ที่ประหยัดและง่ายที่สุด แต่…ถ้ามีตัวหนังสือเยอะก็กดกันมือหงิกเลยที่เดียว …แต่พอเวลาผ่านมาก้มีนักพัฒนา ทั้งโปรแกรมเมอร์และนักศึกษาด้านวิศวะคอมพิวเตอร์ หรือ วิทยาการคอมพิวเตอร์ ก็ได้พัฒนาโปรแกรมแบบที่ใช้ได้ฟรีออกมาเยอะมากมายให้ได้ลองใช้ ผมก็ได้ลองใช้หลายเจ้า จนได้ถูกใจคือ Gazib.com ReVowel ซึ่งใช้ฟรี พัฒนาโดยคุณ เชาวลิต กรพิพัฒน์ ซึ่งสามารถแก้ไขทั้งประโยคได้เลยโดยการนำข้อความไปวางในโปรแกรมแล้วกดให้ทำการแก้ไข ก็จะแก้ให้เองและนำมาวางในโปรแกรมที่เราใช้งานอยู่

 

          ซึ่งพอระยะเวลาผ่านมาเรื่อยๆ การเริ่มแก้ปัญหาที่ถูกจุดก็เริ่มได้รับการแก้ไขจากต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริง นั้นคือ การเขียนโปรแกรมและเข้ารหัส Fonts ให้ถูกต้องตั้งแต่แรกนั้นเอง….

          Fonts ภาษาไทยนั้น แต่ก่อนนั้นถูกออกแบบโดยการเข้ารหัสแบบ ASCII ซึ่ง การเข้ารหัสแบบ ASCII นั้น อักขระไทย จะถูกแทนที่อักขระลาตินที่ไม่มีการใช้งานมากนัก เนื่องจาก เทคโนโลยีในสมัยนั้นการเข้ารหัสตัวอักษรจะมีเพียง 8bit หรือมีได้ 256 อักขระ จึงมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่อักขระ 128 อักขระช่วงหลังเป็นการชั่วคราว ซี่งประเด็นนี้ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะของอักษรไทยเท่านั้นแต่เป้นปัญหากับทุกภาษาทำให้ไม่สามารถใช้งานภาษาต่างๆ ได้พร้อมๆกัน แต่ในภายหลังได้มีการเข้ารหัสแบบใหม่นั้นคือแบบ Unicode ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาอย่างถูกต้องและจัดระเบียบของ Fonts ทุกภาษาให้สามารถใช้งานได้ทุกภาษา Unicode เป็นการสร้างแก้ไขปัญหาข้อพิพาทการใช้งานของอักขระหลายชาติในพื้นที่เดียวกัน ทำให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อตกลงแบ่งแยกพื้นที่อย่างชัดเจนให้แต่ละชาติ แต่ละภาษา นอกจากนี้ยังทำให้สามารถใช้งานหลายภาษาร่วมกันได้ซึ่งตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมาได้มีการรองรับการใช้งาน Unicode ใน OS ต่าง ๆ รวมถึง โปรแกรมใช้งานต่าง ๆ ก็ได้หันมาใช้งาน Unicode และในขณะนี้ Unicode ก็ได้เป็นมาตรฐานสากลหรือ ISO แล้ว ส่วน Thai Fonts ที่เป็น Unicode นั้นในปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลาย โดยมีทั้งที่เจ้าของลิขสิทธิ์ขายและ เจ้าของลิขสิทธิ์ให้ใช้งานกันโดยไม่คิดมูลค่า

          ความเป็น unicode ทำให้แลกเปลี่ยนเอกสารระหว่าง platform ต่างๆ ที่สนับสนุนเป็นความจริงได้แต่ unicode ไม่ backward compatible กับโปรแกรมที่ไม่สนับสนุนในกรณีที่ไม่ใช่ตัวอักษรภาษาอังกฤษพื้นฐานความเป็น opentype ช่วยให้ฟอนต์ฉลาดขึ้น ซืึงก็ขึ้นกับ “โปรแกรม” ที่เขียนฝังลงไปในฟอนต์ opentype ตอนที่สร้าง เช่น ปรับระดับสระ วรรณยุกต์ได้เองเหมือนกับที่ TSP, Kokai ทำ หรือการปรับ kerning และเลขเศษส่วน เป็นต้น จริงๆ เราประยุกต์ได้เยอะมากๆ ครับ ความเป็น opentype ทำให้มีโอกาสที่จะดีไซน์ฟอนต์ที่ ฉลาด มากขึ้น ทำให้คนทำงานสามารถทำงานได้ตรงกับที่ต้องการมากยิ่งขึ้นอีก

ตัวอย่าง..
          คุณทำงานกับไฟล์งานของ Adobe CS2 ที่ใช้กับฟอนต์ DB X ทำให้คุณเอาไฟล์นั้นไปเปิดในเครื่อง PC ที่มี Adobe CS2 ของ windows + DB X font ตัวเดิม ได้เลย ไม่ผิดเพี้ยน ปวดหัวน้อยลงเยอะครับ… และทั้งหมดก็ปรับวรรณยุกต์ สระ และที่ควรจะเป็นในภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้อยู่แล้วครับ ยกเว้นตัดคำ เพราะไม่ใช่เรื่องของ font ครับผม

เครดิต คุณ Jedt3D
http://www.freemac.net/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=11682

          สำหรับโปรแกรมสมัยใหม่อย่างเช่น Adobe CS ต่างๆน่ะครับ ต้องใช้ Font Unicode เท่านั้น (ภาษาไทย) เพราะว่าการเข้ารหัสแบบ ASCII เนี่ยมันไม่เจ๋งพอ (Unicod คือการเข้ารหัสตัวละ 2 Byte ซึ่งสามารถบรรจุตัวอักษรได้มากถึง 65,000 กว่าตัว ลงใน Font Family เดียวกันได้) โปรแกรม MS Office ให้ใช้ฟอนต์ในโฟลเดอร์ OF ส่วน โปรแกรม PageMaker ให้ใช้ฟอนต์ในโฟลเดอร์ SP และโปรแกรม Photoshop, Illustrator, และ Corel Draw ให้ใช้ฟอนต์ในโฟลเดอร์ AD

          การติดตั้งฟอนต์สำหรับโปรแกรม Adobe Illustrator และ Photoshop?นอกจากจะติดตั้งตามวิธีมาตรฐานโดย install ผ่านทาง control panel แล้ว อาจติดตั้งตามวิธีต่อไปนี้ได้:
          1. copy ฟอนต์ทั้งหมดจาก แผ่นซีดี โดยเลือกจากโฟลเดอร์ for AD
          2. paste ฟอนต์ลงในโฟลเดอร์ “Fonts” ของ “Program files” ใน drive C ตาม directory ต่อไปนี้: c:\Program files\Common files\Adobe\Fonts

          แต่ถ้ามีฟอนต์อะไรแล้วลงหมดเครื่องคุณจะช้านะครับ..ควรหาโปรแกรมจัดการฟอนต์อย่างเช่น Suitcase หรือ ATM

          สรุป…Font ทั่วไปจะมีการเข้ารหัสอยู่สองแบบ คือ Ascii กับ unicode เอาเป็นว่า รุ่นเก่าใช้ ASCII รู่นใหม่ ใช้ Unicode ดังนั้นหากคุณใช้ Photoshop CS2 หรือ Illus CS ขึ้นไป จำเป็นต้องใช้ Font ที่มีการเข้ารหัสเป็น Unicode ถ้าไม่ใช้ font ที่มีการเข้ารหัสดังกล่าวแล้วเวลาพิมพ์ภาษาไทยจะเป็นเครื่องหมายคำถามไม่ก็ สี่เหลี่ยม ***ย้ำ Photoshop ต้องเริ่มที่ CS2 ส่วน Illustrator เริ่มที่ CS เฉยๆ ถึงจะ support unicode และถ้าคุณใช้ Photoshop CS เฉยๆ ยังต้องใช้ฟอนท์แบบเก่าอยู่ แล้วก็มีปัญหากับ ญ ก็ยังมีอยู่เช่นกัน

เครดิต ขอขอบคุณข้อมูลจากเป็นอย่างสูงครับ
http://www.macdd.com/macddv3/index.php/component/myblog/Thai-Free-Fonts.html

http://tungblog.atikomtrirat.com/2009/01/font-opentype-unicode.html

          ยิ่ง ณ ปัจจุบัน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้กำหนดให้ หน่วยงานราชการและรณรงค์ให้ คนไทยใช้ฟอนต์ไทยสารบรรณ และ 13 ฟอนต์แห่งชาติ O_O เพื่อความเป็นไทย และให้ ดาว์นโหลด ได้ฟรีเพื่อนำไปติดตั้งและใฃ้งานในเรื่องของเอกสารต่างๆ  ก็เลยมาเล่าให้ฟังในนี้ หลังจากไม่ได้เข้ามาซะนานเพราะว่าที่ทำงานใหม่นั้นไม่มี internet ให้ใช้ พอกลับมาบ้านทีและพอมีเวลาก็จะนำเรื่องมาเล่าให้ฟัง ไว้คราวหน้าถ้ามีเวลาว่าง อยากจะเล่าถึง อุดมการณ์และประสบการณ์ต่างๆที่เจอมาให้ฟังไว้รอโอกาสเหมาะก่อนนะครับ วันนี้ต้องขอตัวไปก่อนละเดินทางกลับไปทำงานต่อที่ เสิงสาง จ.นครราชสีมา ลาละครับ สวัสดีครับ

ครูหนุ่ม 2011-08-07

ปิดความเห็น บน Fonts ปัญหาโลกแตกของนักออกแบบในเครื่องคอมพิวเตอร์ more...

บทสรุป เมื่อได้เป็นข้าราชการ ตอนที่ 3 (จบ)

by on เม.ย..06, 2011, under ครูหมีขี้บ่น

 

บทสรุป เมื่อได้เป็นข้าราชการ ตอนที่ 3 (จบ)

          เว้นว่างไปนานเลยสำหรับบทความตอนที่ 3 ซึ่งจะเป็นบทสรุปในเป้าหมายในชีวิตของผมในการที่จะเป็น “ข้าราชการ” ในบทความที่แล้วผมได้เล่าถึงแรงบันดาลใจและเหตุผลของการที่ต้องการจะเป็น “ข้าราชการ” ให้ได้และแนวทางในการทำข้อสอบ หรือที่เรียกว่าเกร็งข้อสอบให้สอบติด

          ก่อนจะเล่าต่อไปก็ต้องเกรินถึงความรู้ความสามารถของตัวเองก่อนเพื่อที่คนอ่านจะได้เกิดแรงบันดาลใจ….เพราะอะไรเหรอครับ นั้นเพราะว่า อันตัวกระผมนั้นไม่ใช่คนที่เรียนเก่ง คืออยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางแย่ เรียนจบตอน ปวช. มาแบบเส้นยาแดงผ่าแปด คือ 2 หน่อยๆแค่นั้นเอง มาดีขึ้นตอน ปวส. หน่อยเพราะเริ่มตั้งใจเรียนนิดๆ และจบ ป.ตรีมาด้วยเกรด ราวๆ 2.9 เกือบ 3 ซึ่งก็ถือว่า ปานกลางสำหรับคนที่เรียน “ราชภัฎ” เพราะน้อยกว่านี้ บริษัท ห้าง ร้านก็แทบจะไม่รับทำงานแล้ว แต่ที่พูดมานี้ไม่มีผลต่อการสอบแต่อย่างใดมีผลตอนสัมภาษณ์งานแค่นั้นเองที่เค้าจะมองมาที่กระดาษแผ่นนี้ด้วย ฉะนั้นการทำให้ตัวเลขเหล้านี้มันสวยงามก็เป็นเรื่องสำคัญครับ จงจำไว้ให้ดีอย่ามองว่ามันเรื่องเล็ก

          บทความที่แล้วผมได้บอกไปแล้วว่า สอบอะไรไปบ้างติดอะไรไปบ้าง ไม่ติดอะไรบ้าง ซึ่งครั้งนี้ก็จะมาบอกว่าทำไมถึงติดและไม่ติด ในการสอบครั้งแรกของชีวิต (เพราะตั้งแต่ อนุบาลยัน ปวส. ผมได้โควต้ามาตลอดเลยไม่เคยสอบสักครั้งเดียว) สอบครั้งแรกนั้นคือการสอบ เอ็นสะทราน เข้ามหาลัย ซึ่งผมอยู่ในช่วงชีวิตของการสอบแบบระบบใหม่และเก่าพอดี ระบบเก่าคือ สอบตรงวัดไปเลยครั้งเดียวติดไม่ติด เก่งไม่เก่งวัดกันไปเลย ซึ่งแน่นอนครับ ผมสอบไม่ติดในครั้งแรกเลย ซึ่งทำให้ผมเคว้งพอตัวเลยที่เดียวเพราะว่าไม่มีที่เรียนต่อ เลยต้องมาเรียนต่อ ปวส เป็นการแก้ขัดไปก่อน 1 ปี ปีต่อมาใช้ระบบใหม่คือการสอบแบบสำรวจตัวเอง คือสามารถรู้ว่าตัวเองมีความรู้ความสามารถขนาดไหน ทำคะแนนได้เท่าไร ถ้าเลือกคณะนี้มีสิทธิ์จะติดไหมจากคะแนนที่ตัวเองทำได้ ปีนึงสอบ 2 ครั้ง แล้วเอาคะแนนที่ดีที่สุดมารวมๆ บวกๆกันเพื่อไปวัดกันเข้าคณะที่ตัวเองชอบ ซึ่งเมื่อผมรวมคะแนนแล้วมีสิทธิ์เข้าที่ ลาดกระบัง คณะนิเทศศิลป์แบบฉิวเฉียด คือ ดูจากคะแนนขึ้นต่ำของปีที่ผ่านมา ซึ่งคือ 240 คะแนน แต่ผมรวมแล้วผมได้ 250 คะแนนซึ่งก็ถ้าว่าผ่าน แต่เมื่อเลือกคณะไปแล้ว แล้วประกาศผลออกมาปรากฏว่า คะแนนขั้นต่ำดันพุ่งขึ้นไปถึง 280 คะแนนในปีนั้น ทำให้ผมซิ๋วไปอีก 1 ปี และกำลังจะเรียนจบ ปวส แล้วคงต้องหมดหวังกับชีวิตมหาวิทยาลัยที่ฝันไว้ไปแล้วเลยเบนเข็มไปต่อ 2 ปีหลังเพื่อจบ ป.ตรีเลยจะดีกว่าจะได้ไม่เสียเวลาในการศึกษา และไปสอบติดที่สวนดุสิต(รอบ 2 นะรอบแรกไม่ติดหรือที่เรียกว่ารอบรับหมดง่ะเหอๆๆ) แต่ยังดีที่น้องชายสามารถสอบเข้าไปได้ทำให้ผมดีใจไปด้วยที่สามารถเข้าเรียนที่ที่ผมอยากได้ T^T ผมก็เลยกลายเป็น “เด็กราชภัฏ” ไป คำนี้ทำไมถึงเน้นเพราะว่าสมัยนั้นผมโดนดูถูกและกดดันจากคนแถวบ้านที่สามารถเรียนต่อที่ดีๆกันได้เยอะ คำที่ผมเจ็บใจที่สุดเลยก็คือ มีผู้ใหญ่พ่อของเพื่อนคนหนึ่งที่ลูกเค้าเข้ามหาลัยของรัฐได้ถามผมเมื่อผมไปที่บ้านของเค้าว่า “เรียนต่อที่ไหน” ผมตอบไปว่า “ราชภัฎสวนดุสิตครับ” เค้าทำหน้าตาเย้ยๆว่า “อ้อ ราชภัฎเหรอ” คำๆนี้ทำให้ผมมีเป้าหมายขึ้นมาในชีวิตทันที นั้นคือ “ตูจะยิ่งใหญ่ให้ดู ตูจะทำให้ดูว่าเด็กราชภัฏก็ประสบความสำเร็จในชีวิตได้”….

(continue reading…)

2 Comments more...

Looking for something?

Use the form below to search the site:

Still not finding what you're looking for? Drop a comment on a post or contact us so we can take care of it!

Visit our friends!

A few highly recommended friends...