Archive for กรกฎาคม, 2013
วิชาศิลปะในปัจจุบันต้องเรียนอย่างไง?
by admin on ก.ค..29, 2013, under ครูหมีขี้บ่น
วิชาศิลปะในปัจจุบันระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายนั้น รูปแบบการเรียนเปลี่ยนไปมากจากสมัยผมเรียนตอนเด็ก ในปัจจุบันวิชาศิลปะนั้นแทบจะโดนถอดออกจากวิชาหลักไปแล้วใน ม.ต้น นั้นเหลือเรียนแค่สัปดาห์ละ 2 คาบ(คาบละ55นาที) ม.ปลายนั้นยิ่งหนักเหลืออาทิตย์ละ 1 คาบเท่านั้น แล้วถ้สโรงเรียนนั้นเน้นวิชาการหลัก คณิต อังกฤษ วิทย์ ภาษาไทย ก็แทบจะไม่เหลือวิชาศิลปะเพิ่มเติมให้เรียนเลย เว้นแต่ ม.ปลายจะเลือกเรียนสายศิลป์ ซึ่งเหลือน้อยมากและผิดวัตถุประสงคในการเลือกเรียนไปแล้ว เพราะเด็กที่เลือกเรียนสายศิลป์ไม่ได้ชอบวิชาศิลปะ แต่เข้าใจและได้รับการแนะนำที่ผิดๆมาจากทั้งครูและพี่ เพื่อน ว่าเรียนสายศิลป์แล้วจะเรียนง่ายสบาย ไม่ค่อยเรียน และจบสะดวก!!!!
ส่วนถ้าเรียนกันจริงๆแล้ว เนื้อหานั้นมากมายเหลือเกิน ตามตัวชี้วัด อะไรที่มากมายจนไม่มีทางที่จะสอนให้ครบได้ตามเวลาที่ให้มา ซึ่งแค่เนื้อหาที่ต้องเรียนถ้าเรียนกันจริงๆแล้วทั้งเทอมก็ไม่พอ แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปทำงานปฏิบัติซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเรียนวิชาศิลปะที่สุด ภาระตกหนักที่ครูที่ต้องอัดเนื้อหาและวิชาการเข้าไปอย่างมากมายเพื่อ???? เพื่อหวังผลสัมฤทธิ์ของการทดสอบระดับชาติ o-net บ้าบอคอแตก ซึ่งเป็นตัวบอกคุณภาพของโรงเรียนและครูผู้สอนว่าทำการเรียนการสอนให้เด็กเข้าใจได้หรือไหม ซึ่งผมก็เห็นด้วย(บางส่วน)ว่าเป็นตัวกระตุ้นให้ครูและเด็กทำการเรียนการสอนอย่างตั้งใจ แต่…? ข้อสอบในปีที่ผ่านมาของทั้ง ม.ต้น และ ม.ปลายนั้น ผมได้ลองอ่านและลองทำเฉลยแล้วบอกได้เลยว่า หินมาก ยากสุดๆ อย่า!!!เพิ่งคิดว่าผมโง่เอง ท่านลองทำก่อน แล้วจะรู้ว่าข้อสอบนั้นมันเกินระดับเด็กมัธยมที่จะสามารถทำได้ มันข้อสอบของระดับมหาลัยเลยจริงๆ เนื้อหาลงลึกมากจนเกินไป ในเมื่อท่านๆ นั่นไม่เห็นความวำคัญของวิชานี้แต่เวลาออกข้อสอบนั้นเหมือนกับจะเอาเด็กไปเข้ามหาลัยศิลปะชั้นนำของปนะเทศไทยเลยทีเดียว ผลการทดสอบที่ออกมานั้น หวาดเสียวมากสำหรับครูศิลปะอย่างผม คนอื่นอาจจะไม่ลำบากแต่ผมคิดมากไปเอง…เพราะอะไร????
เพราะผมมองว่าวิชาศิลปะนั้นในระดับมัธยมต้นและปลายควรงจะเน้นที่ความคิดสร้างสรรค์และความสนุกสนานในการเรียนมากกว่าวิชาการที่เข้มข้นเหมือนเรียนมหาลัย ทำไมผมถึงกล้าพูดแบบนั้น ก็ย้อนกลับไปอดีตชาติของผมที่ก่อนจะมาเป็นครูศิลปะมัธยมนั้ยผมเคยเป็นครูศิลปะระดับอาชีวะมาก่อน ซึ่งเนื้อหายังไม่หนักขนาดนี้เลยเน้นฝีมือและทักษะ วิชาการพอประมาณ. แล้วผลที่ได้คือเด็กมีฝีมือสอบเข้ามหาลัยชั้นนำของประเทศได้ ด้วยการทดสอบ ทักษะเป็นส่วนใหญ่และบางมหาลัยมีการทดสอบวิชาการแต่!!! ข้อสอบนั้นง่ายกว่า o-net ระดับมัธยมซะอีก!!!!!
ผมครุดคิดและสับสนในแนวทางการสอนอยู่บ่อยครั้งว่าจะเอาไงดีวะเนี้ย ตูจะสอนไงดีวะ เอาวิชาการเน้นผล o-net เอาทักษะฝีมือที่ได้ หรือจะเอาทั้งสองอย่างผสมกันซึ่งทำอยู่แต่…ถ้าผสมกันแล้วจะทำให้เนื้อหานั้นไม่พอจะสอนในเวลาที่กำหนดให้ จะให้งาน ให้รายงาน ให้การบ้านก็แสนจะสงสานเด็กไทยจริงๆ เพราะทุกวิชาคงจะเป็นเหมือนกันหมด การบ้านมากมายมหาศาล เลยต้องหลีกทางให้กับวิชาหลัก…..
หลังจากที่ลองผิดลองถูกมาหลากหลายวิธีสุดท้ายผมตัดสินใจแล้วว่า การเรียนศิลปะให้ได้ดีนั้นต้อง สอนให้เด็กสนุกในการเรียน ไม่ใช่แค่วาดรูปอย่างเดียว ต้องผสมทุกสิ่งทุกอย่างไปในตัวทั้ง การงานอาชีพ คอมพิวเตอร์ วิชาการ วาด ปั้น พิมพ์ ของเล่น เกมต่างๆ และที่สำคัญต้อง ชื่นชม โชว์ผลงานเหล่านั้นของเด็กให้ทุกคนในโรงเรียนได้เห็นและชื่นชมด้วย ให้เด็กสนุกและเริ่มที่อยากจะเข้ามาเรียน ตื่นเต้น ชอบ และรู้สึกว่าเข้ามาเล่น!! ไม่ได้มาเรียน แล้วเราค่อยแทรกเนื้อหาที่สำคัญเข้าไปในระหว่างการทำงานหรือแนะนำเป็นรายบุคคลเลยตามความสามารถเลยจะได้ผลที่ดีที่สุด
ครูหนุ่ม
30 ก.ค. 2556
การประกวดแข่งขันวาดภาพ? ได้อะไร? ใครได้?
by admin on ก.ค..23, 2013, under ครูหมีขี้บ่น
ตลอดปีการศึกษามีการประกวดแข่งขันวาดภาพระบายสีเข้ามามากมาย ท่านผู้บริหารก็จะพยายามกระตุ้นให้มีการส่งเข้าประกวดอยู่ตลอดเวลาด้วยเหตุผลคืออะไรคนที่อ่านลองนึกๆไว้ในใจตอนนี้เลยนะครับก่อนอ่านบทความต่อไป ว่าคิดต่างจากผมอย่างไง บทความนี้ผมเขียนขึ้นมาเพราะในการส่งประกวดครั้งล่าสุดนี้ผมเริ่มไม่มั่นใจในตัวเองว่าทำไปทำไม?
คำถามคือ?
ครูและเด็กพร้อมไหม?
มีเวลาให้มากขนาดไหน?
การสนับสนุนจากโรงเรียนละมีไหม?
ผมถามตัวเองทุกครั้งว่าประกวดไปเพื่ออะไร? เพื่อตัวครู หรือเด็ก หรือผู้บริหาร หรือเพื่อโรงเรียน
ความไม่มั่นใจในแนวทางการทำงานและเหตุผลบางครั้งทำให้งงๆ บ่อยครั้ง เพราะอะไรเพราะคนลงมือทำงานคือตัวเด็ก ไม่ใช่ครู ไม่ใช่ผู้บริหาร ไม่ใช่โรงเรียน แต่เป็นตัวเด็กนักเรียนล้วนๆ หลายครั้งที่เด็กถามกลับมาว่า “ประกวดไปทำไมค่ะ” คำุถามนี้ทำให้ผมอิ้งไปหลายครั้งอยู่เพราะว่าเราตอบจริงๆไม่ได้ “อ้อ นายสั่งง่ะต้องเอาใจนาย” “อ้อเผื่อได้รางวัลง่ะครูและท่านจะได้ได้หน้า” “โรงเรียนจะได้มีชื่อเสียง มีหน้ามีตา” คำตอบเหล่านี้มันผุดขึ้นมาในใจผมทันทีที่เด็กถาม แต่ไม่ใช่คำตอบที่เด็กต้องการ แล้วผมจะตอบอย่างไง…..
หลายๆคนอ่านมาถึงตรงนี้(ถ้ามีคนอ่านนะ)คงจะตอบว่า “เอ้า ก็ประกวดให้เด็กได้รางวัลละสิ” “เอ้า ก็ประกวดเพื่อสร้างความภูมิใจให้เด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครองและโรงเรียนไปจนถึงครูผู้สอน ผู้บริหารนะสิ” ใช่ครับคำตอบง่ายๆ แค่นี้เอง…
แต่ในความเป็นจริงแล้วการที่จะให้เด็กมาทำงานประกวดด้วยความตั้งใจจริง ทำด้วยใจ ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจทั้งตัวเด็กและครูนั้น มันละเอียดอ่อนและเปราะบางมาก ถ้าเราหวังผลการแข่งขันแพ้ ชนะ หรือหวังรางวัลเป็นที่ตั้ง การฝึกซ้อมก็จะแตกต่างกันออกไปทันทีในรูปแบบของผลงานที่กำลังจะทำไปส่งประกวด ผมเคยเห็นเคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มาค่อนข้างมากตั้งแต่เป็นเด็กผู้ลงมือทำจนกระทั่งมาเป็นครู บางครั้งครูจะเป็นคนออกแบบให้กับเด็กเลยแล้วให้เด็กเป็นคนลงมือปฎิบัติซ้อมจนคล่องมือแล้วไปประกวด บางที่โรงเรียนใหญ่ๆดังๆทางด้านศิลปะถึงขั้นเรียกประชุมคณะครูทั้งกลุ่มเพื่อระดมความคิดในการออกแบบกันเลยทีเดียว บางที่คณะครูถึงกับพูดว่าการประกวดแข่งขันนั้นหมายถึงการโชว์ความสามารถของครูผู้ควบคุมการฝึกซ้อมกันเลยที่เดียวไม่ใช่ความคิดของเด็กเลย….แล้วเด็กได้อะไร? ได้รางวัล? ภูมิใจ? ได้ชื่อเสียง? หรือใครได้อะไร? และเมื่อเป็นอย่างงั้นเด็กจะเป็นอย่างไง?.
.
แรกๆ ผมทำแบบที่กล่าวมาทั้งหมดเพราะหวังผลที่จะตามมา ได้รางวัลมาแสนจะดีใจดีใจมากกว่าเด็กอีก กลับมาโรงเรียนมีการมอบรางวัลซ้ำอีกที่คณะ ที่หน้าเสาธง ถ่ายรูปกับท่านๆทั่งหลาย แสดงความยินดีไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ จน…เมื่อเราถามความรู้สึกเด็กที่พาไปชนะได้ที่ ๑ มาว่ารู้สึกอย่างไง เด็กตอบกลับมาทำให้สะเทือนใจไปเลย “ไม่รู้สึกอะไรเลยค่ะ ธรรมดาปกติ” ผมถามซ้ำอีกรอบ “ไม่ดีใจเลยเหรอได้ที่๑มาเลยนะ” เด็กตอบให้สะเทือนหนักเข้าไปอีก “ไม่ดีใจเลยค่ะ รู้สึกเหมือนไม่ได้ทำอะไรเลยก็ชนะแล้ว” …..ผมอิ้งไปเลยครับ ภาพการทำงานช่วงประกวดที่ผ่านมามันแวปวิ่งวนเข้ามาในหัวหมดเลยตั้งแต่ตอนเริ่มรับคำสั่งมาจากนายไปจนถึงการประกวดเสร็จสิ้น…..
ผมกลับมานั่งคิดทบทวน คิดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า เราทำอะไรอยู่? ประกวดไปเพื่ออะไร? แล้ว “เด็กได้อะไร” …..คำถามเกิดขึ้นมากมายในหัว คำตอบทางเลือกมีมายมายหลายเส้นทาง….จุดประสงค์ของการจัดการแข่งขันของผู้จัดการประกวดคืออะไร? จุดประสงค์ของผู้ส่งเข้าประกวดคืออะไร? และเด็กเข้าใจและเต็มใจในการเข้าประกวดไหม? สิ่งเหล่านี้ผมไม่เคยนึกถึงเลย นึกแต่ผลลัพธ์ที่จะได้ตามมา……
หลังจากการประกวดครั้งนั้นกับคำถามที่เจอมาและคำตอบที่ได้รับของเด็กและของตัวผมเอง แนวความคิดในการทำงานประกวดของผมเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ไม่มีการบังคับ ไม่มีการจัดฉาก ไม่มีการจัดเตรียม ไม่มีการเอาใจใครทั้งสิ้นไม่ว่านายจะสั่งมา บังคับมาถ้าไม่ตรงตามแนวความคิดหรือใช้แนวความคิดของผม ผมไม่ทำ ไม่ส่ง และไม่ร่วมเด็ดขาด ถ้าอยากได้เชิญครูท่านอื่นทำแทนผมได้เลย แนวทางนั้นคือ …
ถ้ามีการประกวดเข้ามา จะประชาสัมพันธ์การประกวดให้นักเรียนทราบก่อนทั่วทั้งโรงเรียน
เขียนชื่อครูผู้ควบคุมไว้หลายๆคน (ที่ร.ร.ผมมี ๒ คน) เพื่อให้เด็กเป็นคนเลือกครูผู้ควบคุมตามใจชอบ
ถ้าเด็กมาเลือกผมหรือมีความสนใจในการประกวด ผมก็จะให้ทำรายงานเกี่ยวกับหัวข้อประกวดนั้นๆก่อนเลย (ค้นคว้าข้อมูล research) ถึงขั้นตอนนี้มีเด็กถอยออกไปหลายคยอยู่แต่ผมก็ตามกระตุ้นก่อนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ
ต่อมาเมื่อเด็กมีความสนใจค้นคว้าข้อมูลมาแล้วเราก็มานั่งคุยกันว่าได้ข้อมูลอะไรมาบ้างตอบถามตั้งข้อสงสัยตั้งสมมุติฐานในเรื่องนั้น (วิเคราะห์ปัญหา analysis)
เมื่อเด็กและครูมีความคิดเห็นที่ตรงกันแล้วถึงจะเริ่มทำงานกันได้ ขั้นต่อมาคือการให้เด็กสรุปและบรรยายสิ่งที่รู้และเข้าใจหรือสิ่งที่ต้องการจะถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสืออย่างย่อ สรุปใจความสำคัญ (summary and report)
เมื่อนักเรียนเข้าใจในหัวใจของเรื่อง เข้าใจในสิ่งที่ต้องการจะถ่ายทอด เข้าใจในความต้องการของตนเอง ถึงจะให้เด็กลงมือร่างภาพแปลงจากตัวหนังสือเป็นภาพวาด (sketch)
เมื่อร่างภาพแก้ไขจนทั้งครูและเด็กพอใจเข้าใจตรงกันโดยครูเป็นคนแนะนำถึงเหตุผลในการแก้ไขอยู่เสมอและรู้จักรับฟังเหตุผลของเด็กก่อนว่าทำไมถึงวาดแบบนั้นตรงนั้นก่อนที่จะให้เด็กแก้งานโดยไม่รับฟังความคิดของเด็กก่อนอย่าลืมว่า “มันคืองานของเด็กไม่ใช่ของครู”
และขั้นตอนสุดท้ายการลงมือปฎิบัติลงสี (printing) ปล่อยให้เป็นไปตามใจเค้า ฝีมือเค้า คอยสนับสนุน ตอบคำถาม ให้กำลังใจเค้า เมื่อเค้าต้องการคำตอบ หรือเสริมความมั่นใจของเค้า…ผลงานก็จะเสร็จเองไม่ว่าจะ เต็มร้อยหรือไมาก็ตาม…
ช่วงขั้นตอนที่กล่าวมาทั้งหมดแม้จะใช้เวลานานและวุ่นวาย บางครั้งผมใช้เวลาเป็นเดือนๆในการทำขั้นตอนนี้ แต่ผลที่ได้รับนั้นจะทำให้เด็กมีความเข้าใจ รับรู้ถึงแรงบันดาลใจในการทำงาน สามารถเข้าใจตัวเองว่าทำไปเพราะอะไร มีเหตุมีผล และสามารถอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างท่องแท้และกล้าที่จะแสดงความคิดของตัวเอง จนตัวผมเองยังตกใจในการพัฒนา ถึงแม้ว่าจะมีเด็กบางคนไม่สามารถก้าวข้ามมาในสิ่งที่ผมต้องการให้เค้าเข้าใจได้ ผมก็ยังคงให้ทำตามใจชอบของเค้าเองอยู่ดีถึงแม้ว่ามันจะไม่ดีผมก็ไม่ว่าและไม่แก้ไขให้ถ้าเค้ายังไม่เข้าใจและหวังว่าครั้งหน้าจะเข้าใจในสิ่งที่ผมต้องการจะบอกเค้า บางคนกระโดดข้ามขั้นตอนไปก็มี หายหน้าหายตาไปเลยก็มีหรือโผล่มาช่วงท้ายๆใกล้จะหมดเวลาแล้วก็มี ไม่เป็นไรขอแค่ให้เค้าตั้งใจมาเองผมรับหมดส่งหมด
และเมื่อเค้าได้รับรางวัลมาไม่ว่าจะรางวัลอะไรก็ตามเค้าจะภูมิใจ ดีใจ และเห็นคุณค่าของงานที่ลงมือลงแรงไป บอกกล่าวอย่างภาคภูมิใจต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู เพื่อน พี่น้องว่า “นี้คืองานที่เค้าตั้งใจทำและภูมิใจ”
ครูหนุ่ม
๒๒ ก.ค. ๒๕๕๖
เรากำลังทำอะไร?
by admin on ก.ค..18, 2013, under ครูหมีเอ็นจิเนียริ่ง
คนที่เป็นผู้ใหญ่รวมทั้งตัวผมซึ่งเป็นครูและคุณครูอีกหลายๆท่าน เมื่อเห็นเด็กนักเรียนอยู่ในโรงเรียนที่มีตึก อาคารสถานที่ที่ดี มีความพร้อมของอุปกรณ์ นักเรียนแต่งกายด้วยชุดนักเรียนขาวสะอาด เรียบร้อย ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส สนุกสนานร่าเริง มีมารยาทงาม จิตใจดี มีความตั้งใจในการเรียนที่ดี ผลการเรียนดี …..สิ่งต่างๆเหล่านี้ ก็จะทำให้นึกถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กนักเรียน ครอบครัวที่อบอุ่น มีความสุข เพียบพร้อมทั้ง อาหารเครื่องนุ่งห่ม และสิ่งของเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต ซึ่งเมื่อมาอยู่แรกๆ ผมก็เข้าใจแบบนั้นตามสิ่งที่เห็นตรงหน้า เมื่อมีนโยบายของนายกฯ ให้ครูออกเยี่ยมบ้านของนักเรียนในความดูแลของคุณครู ความจริงที่เห็นแทบสลายหายไปในทันที….
เมื่อตอนที่ผมมาบรรจุที่นี้ใหม่ๆ ในการเรียนการสอนเด็กไม่ค่อยเข้าใจ บางคนผสมสียังไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ แต่ผมก็เข้าใจว่าเพราะที่นี้ไม่เคยมีครูศิลปะมาก่อนเลยอาจจะยังไม่ค่อยมีความรู้ทางด้านศิลปะก็เป็นได้ แต่เมื่อผมได้ออกเยี่ยมบ้านนักเรียนครั้งแรกในชีวิตความเป็นครูที่โรงเรียนสุขไพบูลย์วิริยะวิทยา…..ทำให้ผมเปลี่ยนความคิดและวิธีการสอน เทคนิคการสอนของผม แทบจะฉีกตำราทิ้งไปเลย เพราะอะไร? เพราะก่อนมาเป็นครูที่นี้ผมเป็นครูอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี วิทยาลัยซึ่งมีขนาดใหญ่พิเศษ นักเรียนร่วมๆ 6,000 คน ได้พบเจอกันนักเรียนที่มีความเป็นอยู่ปกติ คือมีกินมีใช้ตามที่เห็น มีพ่อแม่ที่เป็นคนชั้นกลาง ข้าราชการ จนไปถึงระดับลูกคนรวย บางคนถึงขั้นฟุ่มเฟือยเลยด้วยซ้ำ การเรียนการสอนนั้นเป็นไปด้วยความรวดเร็ว นักเรียนเข้าใจง่ายในสิ่งที่สอน มีสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและสังคมแวดล้อมด้วยความเจริญก้าวหน้าและเทคโนโลยีทำให้เด็กมีความรู้ทั้งจากครูสอนและสังคมรอบข้างเป็นคนสอนไปในตัว การยกตัวอย่าง อ้างอิง ค้นคว้าและศึกษาหาความรู้นอกห้องเรียนเพื่อนำกลับมาใช้ในห้องเรียนเป็นไปด้วยความง่ายดาย การเรียนการสอนไหลลื่น วัสดุ อุปกรณ์เมื่อสั่งอะไรไปก็มีกำลังซื้อหามาใช้เรียนได้ตามปกติ ตามชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี แต่ที่นี่…..สิ่งที่เจอมาทุกอย่างใช้ไม่ได้……
แรกๆ เมื่อเข้าชั้นเรียน เด็กๆ ตื่นเต้นในการเรียนวิชาศิลปะ เพราะอยากวาดภาพระบายสี ผมสั่งให้นักเรียนนำสีไม้ สีโปสเตอร์ ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัดมาเรียน ก็มีมาเรียนตามปกติ มีบางคนไม่ได้เอามาก็ใช้ของเพื่อนได้อย่างมีน้ำใจไมตรี แบ่งปันกันใช้อย่างน่ารักน่าเอ็นดู หลังจากนั้นเมื่อสีไม้หมด สีโปสเตอร์หมด กระดาษหมด ถึงได้เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติ เริ่มไม่มีคนเอาสีมาเรียน เริ่มไม่มีคนเอากระดาษมาวาด เริ่มไม่มีดินสอ ปากกา จนกระทั่งแทบจะไม่มีคนเอาอุปกรณ์มาวาดภาพระบายสีอีกเลย แรกๆผมก็โกรธ ทำโทษ ตัดคะแนน และว่ากล่าวในเรื่องของความรับผิดชอบในการเรียนของนักเรียน แต่แล้วมีเด็กคนหนึ่งนั่งโดนผมว่าเรื่องไม่เอาอุปกรณ์มาเรียนเป็นประจำ นั่งก้มหน้าก้มตาฟังผมว่ากล่าวอบรมเมื่อผมถามถึงอุปกรณ์ที่ไม่ได้เอามาก็บอกแต่ว่า “ลืม” “ไม่ได้เอามา” “อยู่ที่บ้าน” “ยังไมได้ซื้อ” ผมก็ยิ่งว่ากล่าวอบรมต่อไปอีกและโดนผมตัดคะแนนไป จนกระทั่ง…..ท้ายชั่วโมงผมถามเพื่อนของเค้าว่า “ทำไมเค้าเป็นแบบนั้น” คำตอบจากเพื่อนเค้าทำให้ผมหน้าชาและเสียใจมาจนทุกวันนี้ “เค้าไม่มีเงินซื้อครับครู”
ผมนี้ไม่มีความเป็นครูเลยจริงๆ เสียใจมาก ทำไมเราถึงไม่สังเกตให้ดีหรือสอบถามให้ชัดเจน ความอายของเด็ก ความกลัวของเด็ก การแก้ปัญหาของเด็กนั้นไม่มีอะไรง่ายไปกว่าการไม่พูดความจริง ทำไมผมถึงคิดไม่ได้ คิดอยู่อย่างเดียวคือ “เชื่อ” ว่าเด็กคนนั้นไม่เอามาเรียน ลืมไว้บ้าน และขี้เกียจแบกขวดสี กล่องสีมาเรียน เมื่อถึงช่วงออกเยี่ยมบ้านนักเรียนในเทอม 2 ผมไปเยี่ยมบ้านนักเรียนคนนี้ ไปเห็นสภาพบ้านของเค้า ครอบครัวของเค้า ชีวิตความเป็นอยู่ของเค้าที่บ้าน ผมแทบร้องไห้โฮออกมาเลย สะเทือนใจมาก บ้านเป็นเหมือนเพิงตามคันนา มีไม้ไผ่มาผ่าซีกแปะๆเป็นผนังบ้านหลังคามุงด้วยสังกะสีเก่าๆ ใบจากและเศษไม้ต่างๆ พอกันแดดกันฝนได้ เมื่อไปถึงบ้านไม่มีผู้ใหญ่อยู่อยู่สักคน มีเพื่อนน้องประถมตัวเล็กๆ วิ่งเล่นอยู่หน้าบ้าน 2 คน สอบถามเด็กก็รู้ว่าพ่อ แม่ไปทำงานยังไม่กลับ ผมเลยนั่งรอ ระหว่างนั่งรอเด็กเอาน้ำใส่ขันมาให้ ผมนั่งคิดอยู่ตั้งนานว่าครั้งสุดท้ายที่ดื่มน้ำจากขันแบบไม่เย็นไม่มีน้ำแข็งนี้เมื่อไร…..คงตั้งแต่สมัยอยู่กับยายที่บ้านนอกสมัยเด็กๆเท่าเค้าเลย มันยิ่งสะเทือนใจจนผมแทบจะร้องไห้ออกมาจริงๆ นี่มันกี่ปีผ่านมาแล้วไม่น่าเชื่อว่ายังคงเป็นแบบเดิมอยู่….พอเอาน้ำให้ผมเสร็จ เด็กนักเรียนก็วิ่งไปเปลี่ยนชุดเอาชุดนักเรียนออกมาแช่น้ำเตรียมซัก….คิดเอาครับว่าเพราะอะไร ผมเข้าใจในทันที แช่เสื้อผ้าเสร็จก็ มาหุงข้าวก่อเตาฟืนจากเศษไม้หุงข้าวหม้อดำปี๋เลย ในตอนนั้นภาพนั้นมันติดตาผมมากแม้ตอนนั้นผมจะพกกล้องไปด้วยแต่ไม่สามารถนำกล้องขึ้นมาถ่ายได้จริงๆ มันบอกไม่ถูกเลยว่าจะถ่ายไปทำไมเพื่ออะไรกับภาพตรงข้างหน้าที่เห็น แม้แต่ภาพบ้านของเด็กผมก็ไม่ได้ถ่ายมาด้วยมันบอกไม่ถูก รู้แต่ว่าจำติดตาเลย….นั่งดูเด็กเค้าหุงข้าว ซักผ้า ดูน้องเค้าวิ่งเล่นบนลานดินแดงๆ ผมนั่งอยู่แคร่ไม้ไผ่หน้าบ้านนานเท่าไรจำไม่ได้เลย รู้แต่ว่าแทบไม่มีคำพูดอะไรออกมาจากปากของผมเลย ได้แต่นั่งมองให้เวลามันผ่านไปเรื่อยๆ นั่งคิด นั่งพิจารณาตัวเอง ว่าตัวเรากำลังทำอะไร….ความสดใส ความร่าเริง ชุดนักเรียนที่ขาวสะอาด สิ่งที่เราเห็นที่โรงเรียนมันชั่งต่างกันมากมายเลยจริงๆ
หลังจากวันนั้นและอีกหลายๆวันต่อมาเมื่อได้ไปเยี่ยมบ้านครบทุกคน สิ่งที่ผมเห็น ที่ได้เจอ สิ่งที่ได้คุยกับพ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนหลายๆคน ได้เปลี่ยนความคิด วิธีสอน วิธีการใช้ชีวิตและการอยู่เพื่อเป็นครูที่ดีทำประโยชน์ต่อเด็กให้มากที่สุด ทุ่มเทให้มากที่สุด มอบแต่สิ่งที่ดีให้ ต่อสู้ดิ้นรนในการแสวงหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ มาให้เด็กได้ใช้มากที่สุด เน้นกระบวนการคิดมากกว่ากระบวนการสั่งงาน เน้นสิ่งของรอบตัวมากกว่าวัตถุไกลตัว เน้นการใส่ใจในชีวิตของเด็กที่บ้านมากกว่าที่โรงเรียน เน้นการพัฒนาตนเองเพื่อการดำรงชีวิตและสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนเพื่ออนาคตมากกว่าผลการสอบวัดผลโอเน็ตบ้าบอคอแตก เน้นการลงมือปฏิบัติแล้วนำผลงานนั้นไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงมากกว่าการนำผลงานไปโชว์ เน้นความเป็นคน ความเป็นตัวตน อิสระทางความคิดมากกว่าโดนจูงจมูก เน้นการดูมากกว่าการจำ เน้นความสนุกสนานในการเรียนมากกว่าความกลัวในการเรียน เน้นสิ่งที่นักเรียนชอบมากกว่าครูชอบ และสุดท้ายเน้นตัวเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ที่นี้ บอกตัวเอง สอนตัวเองทุกวัน ว่าเรามาทำอะไร มีประโยชน์อะไร และจะทำอะไรให้มันดีขึ้นได้บ้างไม่ต้องไปสนใจใครที่ไม่ทำ บอกตัวเองว่าตัวเองทำเองเป็นพอ สุขใจเองพอ มีความสุขทุกครั้งที่เห็นเด็กนักเรียนหัวเราะ ร่างเริงในชั้นเรียนของเรา……
ครูหนุ่ม
18 ก.ค. 2556