Archive for ตุลาคม, 2013
การประดับอินทรธนูของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
by admin on ต.ค..26, 2013, under ครูหมีขี้บ่น
ตั้งแต่ผมบรรจุมา (บรรจุเมื่ิอ วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๔) จนถึงปัจจุบันผมมีความสงสัยและเคืองใจในเรื่องของการการประดับอินทรธนูของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามาโดยตลอด เนื่องจากได้รับคำบอกเล่า แนะนำ สั่งการ(จาก ผอ จาก เจ้าหน้าที่บุคลากร) และคำตำหนิติเตียน ในการประดับอินทรธนูของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาว่าผิดไม่ถูก บางคนบอกว่าต้องระดับต่ำกว่านี้ ขีดน้อยกว่านี้มีสิทธิ์อะไรมาใส่ ๒ ขีด ๓ ขีด บางคนบอกว่าใส่ได้ เค้าก็ใส่กัน (เค้าคนนี้คือใคร?) แต่เมื่อสอบถามเรื่องระเบียบจริงๆ กับไม่มีใครยืนยันและตอบได้อย่างมีหลักฐาน หรืออาจจะรู้แต่ขี้เกียจบอกเพราะยาวมาก เหมือนที่ผมกำลังจะพิมพ์อยู่นี้มันยาวจริงๆครับ เพราะอะไร เพราะเมื่อผมต้องการรู้ความจริงและสามารถประดับอินทรธนูได้อย่างสง่าผ่าเผยดังเช่นความภูมิใจในวิชาชีพและความก้าวหน้าของตัวเองให้ บิดามารดาดีใจ และภูมิใจในตัวเอง จะว่าบ้าเครื่องแบบไหมก็ไม่ถึงกับบ้าเครื่องแบบ แค่อยากมีความรู้สึกว่า “เมื่อต้องแต่งกายเครื่องแบบข้าราชการแล้วต้องแต่งกายให้สุภาพ ถูกต้อง สมกับเป็นข้าราชการของแผ่นดินเท่านั้นเอง จริงๆนะครับผมคิดแบบนี้” ซึ่งโดยปกติตัวเองก็ไม่ค่อยจะแต่งกายเรียบร้อยสักเท่าไร แต่วันไหนที่ต้องแต่งชุด “ข้าราชการ” ผมจะแต่งตัวเรียบร้อยเสมอ…
เมื่อความต้องการอยากรู้ความจริงความถูกต้องมันเริ่มขึ้น จึงลงมือค้นคว้าและอ่านกฏ ระเบียบ พ.ร.บ. ประกาศราชกิจจานุเบกษา ที่เกี่ยวข้องต่างๆ มากมาย จนมีความมั่นใจว่า เข้าใจอย่างถ่องแท้ (ถ้าไม่มีกฏ ระเบียบ พ.ร.บ. ประกาศราชกิจจานุเบกษา มายกเลิกหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง หรือ ก่อนหน้าที่ผมไมไ่ด้อ่านนะครับ บางทีผมก็อาจจะพลาดได้ถ้าพลาดอย่างไร ช่วยแนะนำเพิ่มเติมผมด้วยนะครับ) ก่อนที่จะเข้าสู่การสรุป ในเรื่องนี้ สำหรับคนที่สนใจ แนะนำให้ดาวโหลดเอกสารต่างๆ มาเตรียมไว้ก่อน เพื่อประกอบการอ่าน ซึ่งผมไม่สามารถลงไว้ให้ได้ในนี้ เนื่องจากกลัว แบนวิช จะทะลัก จึงต้องขอ แนบลิงค์จากแหล่งต่างๆ ที่เค้ามีไว้ให้บริการดาวโหลดก่อนนะครับ เอกสารที่มีความเกี่ยวข้องกันผมสรุปออกมาได้ ทั้งหมด ๕ เรื่อง ดังนี้
๑. พ.ร.บ.เครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๘ ฉบับดั่งเดิมเก่ามาก
พ.ร.บ.เครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๘ ฉบับพิมพ์ใหม่ อ่านง่ายขึ้นมาหน่อย
๒. พรบ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗
๓. พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑
๔. กฎสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ ๙๔ พ.ศ. ๒๕๕๓ ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๘
๕. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดให้ใช้เครื่องหมายตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๕๓
โหลดมาไว้ก่อนนะครับเพื่อจะได้ตามอ่านง่ายๆ เมื่อเอกสารพร้อมแล้วก็เริ่มตามอ่านกันได้เลยครับ
บทที่ ๑. อันดับแรกผมสงสัยว่า “ครู” คือข้าราชการประเภทไหนกันแน่ เมื่อตามอ่านใน พ.ร.บ.เครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๘ “มาตรา ๔ คำว่า “ข้าราชการฝ่ายพลเรือน”.ตามพระราชบัญญัตินี้ให้หมายความถึงข้าราชการพลเรือน ข้าราชการพลเรือนสังกัดกระทรวงกลาโหม และข้าราชการตุลาการ” จะเห็นได้ว่ายังไม่มีการกล่าวถึงข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีเพียงแค่คำว่า “ข้าราชการพลเรือน” ที่น่าจะใช่ อาจจะใช้เครื่องแบบตาม พ.ร.บ. นี้ได้ แต่ยังไม่ชัดเจน
บทที่ ๒. อันดับต่อมาก็ ผมก็หาต่อว่า ตกลงครู คือ ข้าราชการประเภทไหนกันแน่ จาก พรบ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑ ตอนพิเศษ ๗๙ ก ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๗
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ให้รับราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณแผ่นดิน งบบุคลากรที่จ่ายในลักษณะเงินเดือนในกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม หรือกระทรวงอื่นที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
“ข้าราชการครู” หมายความว่า ผู้ที่ประกอบวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาของรัฐ
“คณาจารย์” หมายความว่า บุคลากรซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการสอนและการวิจัยในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับปริญญาของรัฐ
“บุคลากรทางการศึกษา” หมายความว่า ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา รวมทั้งผู้สนับสนุนการศึกษาซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ให้บริการ หรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน การนิเทศ การบริหารการศึกษา และปฏิบัติงานอื่นในหน่วยงานการศึกษา
มาตรา ๕ บรรดาคำว่า “ข้าราชการพลเรือน” ที่มีอยู่ในกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ และข้อบังคับอื่นใด ให้หมายความรวมถึงข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย เว้นแต่จะได้มีกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ หรือข้อบังคับอื่นใดที่บัญญัติไว้สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยเฉพาะ
มตรา ๓๘ ตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามี ๓ ประเภทดังนี้
ก. ตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้สอนในหน่วยงานการศึกษา ได้แก่ ตำแหน่งดังต่อไปนี้
(๑) ครูผู้ช่วย
(๒) ครู
(๓) อาจารย์
(๔) ผู้ช่วยศาสตราจารย์
(๕) รองศาสตราจารย์
(๖) ศาสตราจารย์
มาตรา ๓๙ ให้ตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาดังต่อไปนี้ เป็นตำแหน่งที่มีวิทยฐานะ ได้แก่
ก. ตำแหน่งครู มีวิทยฐานะ ดังต่อไปนี้
(๑) ครูชำนาญการ
(๒) ครูชำนาญการพิเศษ
(๓) ครูเชี่ยวชาญ
(๔) ครูเชี่ยวชาญพิเศษ
จาก พรบ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ ผมสรุปได้ว่า ครู คือ “ข้าราชการพลเรือน” ตาม มาตรา ๕ ครับ
บทที่ ๓. เมื่อสรุปได้ว่า ครู คือ “ข้าราชการพลเรือน” ก็ไปตามดูเรื่อง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“ข้าราชการพลเรือน” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ให้รับราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณในกระทรวง กรมฝ่ายพลเรือน
“ข้าราชการฝ่ายพลเรือน” หมายความว่า ข้าราชการพลเรือน และข้าราชการอื่นในกระทรวงกรมฝ่ายพลเรือน ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทนั้น
มาตรา ๓๕ ข้าราชการพลเรือนมี ๒ ประเภท คือ
(๑) ข้าราชการพลเรือนสามัญ ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนซึ่งรับราชการโดยได้รับบรรจุแต่งตั้งตามที่บัญญัติไว้ในลักษณะ ๔ ข้าราชการพลเรือนสามัญ
(๒) ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนซึ่งรับราชการโดยได้รับบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในพระองค์พระมหากษัตริย์ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๔๐ เครื่องแบบของข้าราชการพลเรือนและระเบียบการแต่งเครื่องแบบให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบว่าด้วยการนั้น
มาตรา ๔๕ ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญมี ๔ ประเภท ดังต่อไปนี้
(๑) ตำแหน่งประเภทบริหาร ได้แก่ ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการและรองหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง กรม และตำแหน่งอื่นที่ ก.พ. กำหนดเป็นตำแหน่งประเภทบริหาร
(๒) ตำแหน่งประเภทอำนวยการ ได้แก่ ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่ต่ำกว่าระดับกรมและตำแหน่งอื่นที่ ก.พ. กำหนดเป็นตำแหน่งประเภทอำนวยการ
(๓) ตำแหน่งประเภทวิชาการ ได้แก่ ตำแหน่งที่จำเป็นต้องใช้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตามที่ ก.พ. กำหนดเพื่อปฏิบัติงานในหน้าที่ของตำแหน่งนั้น
(๔) ตำแหน่งประเภททั่วไป ได้แก่ ตำแหน่งที่ไม่ใช่ตำแหน่งประเภทบริหาร ตำแหน่งประเภทอำนวยการ และตำแหน่งประเภทวิชาการ ทั้งนี้ ตามที่ ก.พ. กำหนด
มาตรา ๔๖ ระดับตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญ มีดังต่อไปนี้
(๑) ตำแหน่งประเภทบริหาร มีระดับดังต่อไปนี้
(ก) ระดับต้น
(ข) ระดับสูง
(๒) ตำแหน่งประเภทอำนวยการ มีระดับดังต่อไปนี้
(ก) ระดับต้น
(ข) ระดับสูง
(๓) ตำแหน่งประเภทวิชาการ มีระดับดังต่อไปนี้
(ก) ระดับปฏิบัติการ
(ข) ระดับชำนาญการ
(ค) ระดับชำนาญการพิเศษ
(ง) ระดับเชี่ยวชาญ
(จ) ระดับทรงคุณวุฒิ
(๔) ตำแหน่งประเภททั่วไป มีระดับดังต่อไปนี้
(ก) ระดับปฏิบัติงาน
(ข) ระดับชำนาญงาน
(ค) ระดับอาวุโส
(ง) ระดับทักษะพิเศษ
การจัดประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎ ก.พ.
เมื่ออ่าน พ.ร.บ. นี้จบ (ยาวววววมากกกก แต่คงคิดว่าครูทุกท่านคงจะเคยผ่านตากันมาแล้วในตอนสอบ ผมอ่านแค่ตอนสอบนั้นไม่กี่ครั้งเอง เหอๆๆๆ) ก็จะสรุปเพิ่มเติมได้ว่า ครู นั้น คือ “ข้าราชการพลเรือนสามัญ” ใช้ พ.ร.บ.เครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๘ เหมือนกัน และตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญมี ๔ ประเภท คือ (๑) ตำแหน่งประเภทบริหาร (๒) ตำแหน่งประเภทอำนวยการ (๓) ตำแหน่งประเภทวิชาการ (๔) ตำแหน่งประเภททั่วไป ซึ่งที่น่าจะเกี่ยวข้องคือและหรือสาระสำคัญของบทความนี้คือ ครูอยู่ใน ประเภทไหน ไมไ่ด้มีบอกไว้ ซึ่งมีผลต่อการการแต่งกาย ตาม กฎสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ ๙๔ พ.ศ. ๒๕๕๓ ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๘ ที่ออกตามมาจึงเริ่มค้นหาต่อ
บทที่ ๔. เมื่อ กฎสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ ๙๔ พ.ศ. ๒๕๕๓ ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๘ ออกปรับปรุงจาก พ.ร.บ.เครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๘ มีการเปลี่ยนแปลง เครื่องแบบข้าราชการตาม พ.ร.บ. นี้ และนี้คือ จุดเริ่มของความสับสน ในการ “การประดับอินทรธนูของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา” ตามบทความนี้ที่ เพราะ การแต่งกายของข้าราชการพลเรือนประเภทต่างๆ นั้น “ไม่เหมือนกัน”
ข้อ ๒ ให้ยกเลิกความใน (๓) และ (๔) ของ ๒.๑ ในข้อ ๒ ของส่วนที่ ๑ แห่งกฎสำนัก
นายกรัฐมนตรี ออกตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน
พุทธศักราช ๒๔๗๘ ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎสำนัก
นายกรัฐมนตรี ฉบับที่ ๗๑ (พ.ศ. ๒๕๒๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการ
ฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๓) อินทรธนู ให้ใช้อินทรธนูอ่อนมีลายดังนี้
(ก) ข้าราชการพลเรือนสามัญ
ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับทักษะพิเศษ ตำแหน่ง
ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญและระดับทรงคุณวุฒิ ตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับสูง และ
ตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับต้นและระดับสูง มีแถบกว้าง ๓ เซนติเมตร ติดทางต้นอินทรธนู
๑ แถบ และแถบกว้าง ๑ เซนติเมตร ติดเรียงต่อไปอีก ๑ แถบ แถบบนขมวดเป็นวงกลม ขนาดวัด
เส้นผ่าศูนย์กลางวงใน ๑ เซนติเมตร และบนกึ่งกลางแถบกว้าง ๓ เซนติเมตร ให้ติดตราครุฑพ่าห์
ทำด้วยโลหะสีทองสูง ๒.๕ เซนติเมตร
ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโส ตำแหน่งประเภท
วิชาการ ระดับชำนาญการและระดับชำนาญการพิเศษ และตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับต้น
มีแถบกว้าง ๓ เซนติเมตร ติดทางต้นอินทรธนู ๑ แถบ และแถบกว้าง ๑ เซนติเมตร ติดเรียงต่อไปอีก
๑ แถบ แถบบนขมวดเป็นวงกลม ขนาดวัดเส้นผ่าศูนย์กลางวงใน ๑ เซนติเมตร
ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับชำนาญงาน และตำแหน่ง
ประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ มีแถบกว้าง ๑ เซนติเมตร ๓ แถบ แถบบนขมวดเป็นวงกลม
ขนาดวัดเส้นผ่าศูนย์กลางวงใน ๑ เซนติเมตร
ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน มีแถบกว้าง
๑ เซนติเมตร ๒ แถบ แถบบนขมวดเป็นวงกลม ขนาดวัดเส้นผ่าศูนย์กลางวงใน ๑ เซนติเมตร
ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความใน (๓) และ (๔) ของ ๒.๒ ก. ในข้อ ๒ ของส่วนที่ ๑ แห่งกฎสำนัก
นายกรัฐมนตรี ออกตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน
พุทธศักราช ๒๔๗๘ ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎสำนัก
นายกรัฐมนตรี ฉบับที่ ๗๑ (พ.ศ. ๒๕๒๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบ
ข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๓) อินทรธนู ให้มีอินทรธนูแข็ง กว้าง ๔ เซนติเมตร ยาวตามความยาวของบ่า
พื้นสักหลาดสีดำ ติดทับเสื้อเหนือบ่าทั้งสองข้างจากไหล่ไปคอ ด้านคอปลายมนติดดุมโลหะสีทอง
ตราครุฑพ่าห์ขนาดเล็ก อินทรธนูมีลายดังนี้
(ก) ข้าราชการพลเรือนสามัญ
ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับทักษะพิเศษ ตำแหน่ง
ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญและระดับทรงคุณวุฒิ ตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับสูง
และตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับต้นและระดับสูง มีแถบสีทองกว้าง ๕ มิลลิเมตร เป็นขอบ
ปักดิ้นสีทองลายช่อชัยพฤกษ์ยาวตลอดส่วนกลางของอินทรธนู และให้มีแถบสีทองกว้าง
๕ มิลลิเมตร ปิดที่ฐานด้านล่างของอินทรธนู
ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับอาวุโส ตำแหน่งประเภท
วิชาการ ระดับชำนาญการและระดับชำนาญการพิเศษ และตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับต้น
มีแถบสีทองกว้าง ๕ มิลลิเมตร เป็นขอบ และปักดิ้นสีทองลายช่อชัยพฤกษ์ยาวตลอดส่วนกลาง
ของอินทรธนู
ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับชำนาญงาน และตำแหน่ง
ประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ มีแถบสีทองกว้าง ๑ เซนติเมตร เป็นขอบ และปักดิ้นสีทอง
ลายช่อชัยพฤกษ์มีดอก ๓ ดอก เรียงตามส่วนยาวของอินทรธนู ไม่เกิน ๓ ใน ๔ ส่วนของอินทรธนู
ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน มีแถบสีทอง
กว้าง ๑ เซนติเมตร เป็นขอบ และปักดิ้นสีทองลายช่อชัยพฤกษ์มีดอก ๒ ดอก เรียงตามส่วนยาว
ของอินทรธนู ไม่เกินครึ่งหนึ่งของอินทรธนู
จาก กฎสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ ๙๔ พ.ศ. ๒๕๕๓ ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๘ นี้ และสิ่งที่ สรุปมาแต่ก่อนหน้านั้น ครู นั้น คือ “ข้าราชการพลเรือนสามัญ” ให้ใช้ อินทรธรูและช่อชัยพฤกษ์ ตาม กฏที่ปรับเปลี่ยนใหม่นี้ แต่ยัง ไม่มีความชัดเจนในเรื่องที่ว่า ครู นั้น อยู่ใน ข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทไหน (ตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญมี ๔ ประเภท คือ (๑) ตำแหน่งประเภทบริหาร (๒) ตำแหน่งประเภทอำนวยการ (๓) ตำแหน่งประเภทวิชาการ (๔) ตำแหน่งประเภททั่วไป ) ก็เลย(คงจะ)ยังไม่มีใครกล้าที่ใส่อินทรธนูที่ มีระดับที่สูงขึ้นไป และเกิดความ เข้าใจกันเองมายาวนานแต่เดิม ว่า ครู ค.ศ. ๑ ,๒, ๓นั้น ตั้งใส่ได้ ๑ ขีด ๒ ขีด ๓ ขีด ตามระดับ และระดับซี ๓ ,๔ ,๕ ,๖ ,๗ ,๘ ในอดีตยังตามมาหลอกหลอน และสับสน เมื่อ กฎใหม่นี้ออกมา จึงเกิดการสอบถามและสับสนกันอย่างมากว่า “การประดับอินทรธนูของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา” นั้นอย่างไหนถึงจะถูกต้องกันแน่ จนสุดท้าย ก็มี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดให้ใช้เครื่องหมายตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๕๓ ออกตามมาในเดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ นั้นเอง
บทที่ ๕. เมื่อมี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดให้ใช้เครื่องหมายตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๕๓ ออกตามมาในเดือน ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ความชัดเจนของ “การประดับอินทรธนูของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา” นั้นก็เป็นอันสรุปได้ดังนี้
ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครู
และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งได้รับเงินเดือนตามบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการครู และบุคลากร
ทางการศึกษาที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแนบท้ายกฎหมายว่าด้วยเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงิน
ประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และกฎหมายว่าด้วยการปรับอัตราเงินเดือน
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา แต่งเครื่องแบบตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการ
ฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๘ โดยใช้อินทรธนูและเครื่องหมายตำแหน่งบนอินทรธนู
ของข้าราชการพลเรือนสามัญ ทั้งเครื่องแบบปฏิบัติราชการและเครื่องแบบพิธีการตามที่กำหนดไว้ใน
กฎสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ ๙๔ (พ.ศ. ๒๕๕๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบ
ข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช ๒๔๗๘ ตามระดับตำแหน่งในตำแหน่งประเภทวิชาการ
ของข้าราชการพลเรือนสามัญตามบัญชีเทียบตำแหน่งในการแต่งเครื่องแบบของข้าราชการครู
และบุคลากรทางการศึกษาแนบท้ายประกาศนี้
เอกสารอ้างอิง หนังสือสั่งการของจังหวัดขอนแก่น ตาม กฎสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ ๙๔ เรื่อง
เครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน แก้ไขตามกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ฉ.๙๔ (พ.ศ.๒๕๕๓)
จากข้อมูลที่ค้นคว้า ศึกษาตามอ่านมา ก็สรุป ได้ว่า ครูนั้น คือ “ข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทวิชาการ” การประดับอินทรธนูและช่อชัยพฤกษ์นั้น จะมีแถบมากกว่า ข้าราชการประเภท อื่นๆ ซึ่ง ณ เงินเดือน ปัจจุบัน ตาม ว๓๐ ของ ครูนั้น สามารถ ใช้ อินทรธนูและช่อชัยพฤกษ์ ตามรูปประกอบที่ลงไว้ตั้งแต่ต้นได้เลย แต่!!!!!!! ในการดำรงชีวิตจริงนั้น ค่อนข้างมีปัญหามากกับการแต่งกายแบบใหม่นี้ เพราะว่าจะถูกต่อว่า หรือติเตียนว่าเราใส่แถบมากไป ทั้งจาก ผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แม้กระทั่งเพื่อนร่วมงาน ในปัจจุบันผมเป็นครู ค.ศ.๑ เงินเดือน ๑๕,๐๒๐ บาทแล้วแต่ยังคงใช้ อินทรธนู ในระดับ ๕ (ตามภาพประกอบ) อยู่เนื่องจากภาพรวมยังไม่ชัดเจนและเกรงใจท่านๆทั้งหลายตามความเหมาะสม
(edit แก้ไขข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเหมาะสม ๒๗ ต.ค. ๒๕๕๖ เวลา ๑๔.๒๗ น.)