การประกวดแข่งขันวาดภาพ? ได้อะไร? ใครได้?
by admin on ก.ค..23, 2013, under ครูหมีขี้บ่น
ตลอดปีการศึกษามีการประกวดแข่งขันวาดภาพระบายสีเข้ามามากมาย ท่านผู้บริหารก็จะพยายามกระตุ้นให้มีการส่งเข้าประกวดอยู่ตลอดเวลาด้วยเหตุผลคืออะไรคนที่อ่านลองนึกๆไว้ในใจตอนนี้เลยนะครับก่อนอ่านบทความต่อไป ว่าคิดต่างจากผมอย่างไง บทความนี้ผมเขียนขึ้นมาเพราะในการส่งประกวดครั้งล่าสุดนี้ผมเริ่มไม่มั่นใจในตัวเองว่าทำไปทำไม?
คำถามคือ?
ครูและเด็กพร้อมไหม?
มีเวลาให้มากขนาดไหน?
การสนับสนุนจากโรงเรียนละมีไหม?
ผมถามตัวเองทุกครั้งว่าประกวดไปเพื่ออะไร? เพื่อตัวครู หรือเด็ก หรือผู้บริหาร หรือเพื่อโรงเรียน
ความไม่มั่นใจในแนวทางการทำงานและเหตุผลบางครั้งทำให้งงๆ บ่อยครั้ง เพราะอะไรเพราะคนลงมือทำงานคือตัวเด็ก ไม่ใช่ครู ไม่ใช่ผู้บริหาร ไม่ใช่โรงเรียน แต่เป็นตัวเด็กนักเรียนล้วนๆ หลายครั้งที่เด็กถามกลับมาว่า “ประกวดไปทำไมค่ะ” คำุถามนี้ทำให้ผมอิ้งไปหลายครั้งอยู่เพราะว่าเราตอบจริงๆไม่ได้ “อ้อ นายสั่งง่ะต้องเอาใจนาย” “อ้อเผื่อได้รางวัลง่ะครูและท่านจะได้ได้หน้า” “โรงเรียนจะได้มีชื่อเสียง มีหน้ามีตา” คำตอบเหล่านี้มันผุดขึ้นมาในใจผมทันทีที่เด็กถาม แต่ไม่ใช่คำตอบที่เด็กต้องการ แล้วผมจะตอบอย่างไง…..
หลายๆคนอ่านมาถึงตรงนี้(ถ้ามีคนอ่านนะ)คงจะตอบว่า “เอ้า ก็ประกวดให้เด็กได้รางวัลละสิ” “เอ้า ก็ประกวดเพื่อสร้างความภูมิใจให้เด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครองและโรงเรียนไปจนถึงครูผู้สอน ผู้บริหารนะสิ” ใช่ครับคำตอบง่ายๆ แค่นี้เอง…
แต่ในความเป็นจริงแล้วการที่จะให้เด็กมาทำงานประกวดด้วยความตั้งใจจริง ทำด้วยใจ ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจทั้งตัวเด็กและครูนั้น มันละเอียดอ่อนและเปราะบางมาก ถ้าเราหวังผลการแข่งขันแพ้ ชนะ หรือหวังรางวัลเป็นที่ตั้ง การฝึกซ้อมก็จะแตกต่างกันออกไปทันทีในรูปแบบของผลงานที่กำลังจะทำไปส่งประกวด ผมเคยเห็นเคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มาค่อนข้างมากตั้งแต่เป็นเด็กผู้ลงมือทำจนกระทั่งมาเป็นครู บางครั้งครูจะเป็นคนออกแบบให้กับเด็กเลยแล้วให้เด็กเป็นคนลงมือปฎิบัติซ้อมจนคล่องมือแล้วไปประกวด บางที่โรงเรียนใหญ่ๆดังๆทางด้านศิลปะถึงขั้นเรียกประชุมคณะครูทั้งกลุ่มเพื่อระดมความคิดในการออกแบบกันเลยทีเดียว บางที่คณะครูถึงกับพูดว่าการประกวดแข่งขันนั้นหมายถึงการโชว์ความสามารถของครูผู้ควบคุมการฝึกซ้อมกันเลยที่เดียวไม่ใช่ความคิดของเด็กเลย….แล้วเด็กได้อะไร? ได้รางวัล? ภูมิใจ? ได้ชื่อเสียง? หรือใครได้อะไร? และเมื่อเป็นอย่างงั้นเด็กจะเป็นอย่างไง?.
.
แรกๆ ผมทำแบบที่กล่าวมาทั้งหมดเพราะหวังผลที่จะตามมา ได้รางวัลมาแสนจะดีใจดีใจมากกว่าเด็กอีก กลับมาโรงเรียนมีการมอบรางวัลซ้ำอีกที่คณะ ที่หน้าเสาธง ถ่ายรูปกับท่านๆทั่งหลาย แสดงความยินดีไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ จน…เมื่อเราถามความรู้สึกเด็กที่พาไปชนะได้ที่ ๑ มาว่ารู้สึกอย่างไง เด็กตอบกลับมาทำให้สะเทือนใจไปเลย “ไม่รู้สึกอะไรเลยค่ะ ธรรมดาปกติ” ผมถามซ้ำอีกรอบ “ไม่ดีใจเลยเหรอได้ที่๑มาเลยนะ” เด็กตอบให้สะเทือนหนักเข้าไปอีก “ไม่ดีใจเลยค่ะ รู้สึกเหมือนไม่ได้ทำอะไรเลยก็ชนะแล้ว” …..ผมอิ้งไปเลยครับ ภาพการทำงานช่วงประกวดที่ผ่านมามันแวปวิ่งวนเข้ามาในหัวหมดเลยตั้งแต่ตอนเริ่มรับคำสั่งมาจากนายไปจนถึงการประกวดเสร็จสิ้น…..
ผมกลับมานั่งคิดทบทวน คิดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า เราทำอะไรอยู่? ประกวดไปเพื่ออะไร? แล้ว “เด็กได้อะไร” …..คำถามเกิดขึ้นมากมายในหัว คำตอบทางเลือกมีมายมายหลายเส้นทาง….จุดประสงค์ของการจัดการแข่งขันของผู้จัดการประกวดคืออะไร? จุดประสงค์ของผู้ส่งเข้าประกวดคืออะไร? และเด็กเข้าใจและเต็มใจในการเข้าประกวดไหม? สิ่งเหล่านี้ผมไม่เคยนึกถึงเลย นึกแต่ผลลัพธ์ที่จะได้ตามมา……
หลังจากการประกวดครั้งนั้นกับคำถามที่เจอมาและคำตอบที่ได้รับของเด็กและของตัวผมเอง แนวความคิดในการทำงานประกวดของผมเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ไม่มีการบังคับ ไม่มีการจัดฉาก ไม่มีการจัดเตรียม ไม่มีการเอาใจใครทั้งสิ้นไม่ว่านายจะสั่งมา บังคับมาถ้าไม่ตรงตามแนวความคิดหรือใช้แนวความคิดของผม ผมไม่ทำ ไม่ส่ง และไม่ร่วมเด็ดขาด ถ้าอยากได้เชิญครูท่านอื่นทำแทนผมได้เลย แนวทางนั้นคือ …
ถ้ามีการประกวดเข้ามา จะประชาสัมพันธ์การประกวดให้นักเรียนทราบก่อนทั่วทั้งโรงเรียน
เขียนชื่อครูผู้ควบคุมไว้หลายๆคน (ที่ร.ร.ผมมี ๒ คน) เพื่อให้เด็กเป็นคนเลือกครูผู้ควบคุมตามใจชอบ
ถ้าเด็กมาเลือกผมหรือมีความสนใจในการประกวด ผมก็จะให้ทำรายงานเกี่ยวกับหัวข้อประกวดนั้นๆก่อนเลย (ค้นคว้าข้อมูล research) ถึงขั้นตอนนี้มีเด็กถอยออกไปหลายคยอยู่แต่ผมก็ตามกระตุ้นก่อนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ
ต่อมาเมื่อเด็กมีความสนใจค้นคว้าข้อมูลมาแล้วเราก็มานั่งคุยกันว่าได้ข้อมูลอะไรมาบ้างตอบถามตั้งข้อสงสัยตั้งสมมุติฐานในเรื่องนั้น (วิเคราะห์ปัญหา analysis)
เมื่อเด็กและครูมีความคิดเห็นที่ตรงกันแล้วถึงจะเริ่มทำงานกันได้ ขั้นต่อมาคือการให้เด็กสรุปและบรรยายสิ่งที่รู้และเข้าใจหรือสิ่งที่ต้องการจะถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสืออย่างย่อ สรุปใจความสำคัญ (summary and report)
เมื่อนักเรียนเข้าใจในหัวใจของเรื่อง เข้าใจในสิ่งที่ต้องการจะถ่ายทอด เข้าใจในความต้องการของตนเอง ถึงจะให้เด็กลงมือร่างภาพแปลงจากตัวหนังสือเป็นภาพวาด (sketch)
เมื่อร่างภาพแก้ไขจนทั้งครูและเด็กพอใจเข้าใจตรงกันโดยครูเป็นคนแนะนำถึงเหตุผลในการแก้ไขอยู่เสมอและรู้จักรับฟังเหตุผลของเด็กก่อนว่าทำไมถึงวาดแบบนั้นตรงนั้นก่อนที่จะให้เด็กแก้งานโดยไม่รับฟังความคิดของเด็กก่อนอย่าลืมว่า “มันคืองานของเด็กไม่ใช่ของครู”
และขั้นตอนสุดท้ายการลงมือปฎิบัติลงสี (printing) ปล่อยให้เป็นไปตามใจเค้า ฝีมือเค้า คอยสนับสนุน ตอบคำถาม ให้กำลังใจเค้า เมื่อเค้าต้องการคำตอบ หรือเสริมความมั่นใจของเค้า…ผลงานก็จะเสร็จเองไม่ว่าจะ เต็มร้อยหรือไมาก็ตาม…
ช่วงขั้นตอนที่กล่าวมาทั้งหมดแม้จะใช้เวลานานและวุ่นวาย บางครั้งผมใช้เวลาเป็นเดือนๆในการทำขั้นตอนนี้ แต่ผลที่ได้รับนั้นจะทำให้เด็กมีความเข้าใจ รับรู้ถึงแรงบันดาลใจในการทำงาน สามารถเข้าใจตัวเองว่าทำไปเพราะอะไร มีเหตุมีผล และสามารถอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างท่องแท้และกล้าที่จะแสดงความคิดของตัวเอง จนตัวผมเองยังตกใจในการพัฒนา ถึงแม้ว่าจะมีเด็กบางคนไม่สามารถก้าวข้ามมาในสิ่งที่ผมต้องการให้เค้าเข้าใจได้ ผมก็ยังคงให้ทำตามใจชอบของเค้าเองอยู่ดีถึงแม้ว่ามันจะไม่ดีผมก็ไม่ว่าและไม่แก้ไขให้ถ้าเค้ายังไม่เข้าใจและหวังว่าครั้งหน้าจะเข้าใจในสิ่งที่ผมต้องการจะบอกเค้า บางคนกระโดดข้ามขั้นตอนไปก็มี หายหน้าหายตาไปเลยก็มีหรือโผล่มาช่วงท้ายๆใกล้จะหมดเวลาแล้วก็มี ไม่เป็นไรขอแค่ให้เค้าตั้งใจมาเองผมรับหมดส่งหมด
และเมื่อเค้าได้รับรางวัลมาไม่ว่าจะรางวัลอะไรก็ตามเค้าจะภูมิใจ ดีใจ และเห็นคุณค่าของงานที่ลงมือลงแรงไป บอกกล่าวอย่างภาคภูมิใจต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู เพื่อน พี่น้องว่า “นี้คืองานที่เค้าตั้งใจทำและภูมิใจ”
ครูหนุ่ม
๒๒ ก.ค. ๒๕๕๖