Concept คืออะไร หมายความว่าอย่างไร ?…..
by admin on ก.ย..01, 2010, under ครูหมีสอนศิลปะ
ในแนวทางการออกแบบหรือในชีวิตประจำวันสิ่งที่เรากำหนดเป้าหมายไว้ ตั้งใจไว้ หรือมั่นใจในความคิดเรา ไม่ว่าจะเป็น การแต่งตัว การเลือกบางสิ่งบางอย่าง หรือ การไม่เลือกบางสิ่งบางอย่าง การตั้งเป้าหมายกับตัวเอง หรือผลงาน หรืออะไรก็ตามที่มีเป้าหมาย เราจะเรียกสิ่งนั้นว่า Concept ซึ่งโดยความหมายของมันนั้นมีมากมายเลยจริงๆ และเป็นเรื่องยากที่จะสามารถเข้าใจได้โดยการอ่าน ต้องพึ่งกระทำและทำความเข้าใจไปกับมันไปเรื่อยๆ จนเราสามารถอธิบายได้ด้วยตนเอง ถึงจะเรียกว่าเราเข้าใจแล้วจริงๆ
concept (คอน-เซ็พท) ในพจนานุกรมแปล อังกฤษ-ไทย อ.สอ เสถบุตร อธิบายไว้ว่า
n.
|imagine syn.
|concept-|sf.|-concept|pf.
ความหมายความคิด, สิ่งที่คิดขึ้น
หรือในแบบสากล พจนานุกรมแปล อังกฤษ-ไทย NECTEC’s Lexitron Dictionary อธิบายไว้ว่า
concept
ความหมาย [n.] ความคิด ความคิดรวบยอด, กรอบความคิด
[syn.] idea,notion,thought
โดยตามปกติแล้วเราจะใช้ คำภาษาไทยที่ใช้อธิบายคำว่า Concept คือ ความคิดรวบยอด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายของนักออกแบบที่กำลังศึกษาอยู่และคนที่ไม่ใด้เรียนด้านออกแบบ จะสามารถเข้าใจได้กับคำว่า “ความคิดรวบยอด” ซึ่งเป็นคำเฉพาะได้โดยง่าย แต่ถ้าเราทำให้มันเข้าใจง่ายขึ้น และพูดแบบง่ายๆ ให้คนอื่นฟัง ก็อาจจะบอกว่า “สิ่งที่เป็นการแสดงถึงลักษณะของสิ่งๆ หนึ่งที่สามารถ สื่อสารไปให้อีกคนเข้าใจได้โดยง่ายและมีความเป็นเอกภาพ เอกลักษณ์ในตัวของมันเอง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็น วัตถุ หรือ ความคิด ก็ตาม”
เช่น แก้วน้ำ concept ของมันคือ ใส่ของเหลวได้ เป็นพาชนะ ทำจากวัสดุที่เรียกว่าแก้ว สามารถแตกได้ เมื่อเราบอกว่า แก้วน้ำ คนทั่วไปก็สามารถเข้าใจได้ในทันทีว่าเราหมายถึงอะไร โดยที่รายละเอียดของแก้วน้ำแต่ละใบนั้น ยังมีอีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็น ลวดลาย สีสัน รูปร่าง ขนาด แบบนี้เป็นต้น ฉะนั้นสิ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้ คือการเอาลักษณะ หน้าที่ เอกลักษณ์ หลายๆอย่างมารวมกัน จนเราได้ข้อสรุปของสิ่งที่เราต้องการจะสื่อไปหาผู้อื่น ว่าสิ่งนี้ เรียกว่า “แก้วน้ำ” แล้วมันจะมาเกี่ยวอะไรกับ คำว่า “ความคิดรวบยอด” ล่ะ ก็ถ้าผมออกแบบมันให้ทนแรงกระแทกได้ คือตกไม่แตก และอธิบายว่านี่คือ “แก้วน้ำที่ตกแล้วไม่แตก” นี่ละครับที่เรียกว่า “ความคิดรวบยอด”
หรืออีกหน่อย อย่างรูปข้างบนที่นำมาให้ดุ อาจจะงง แต่ถ้าผมบอกว่า รูปของวัตถุบางอย่างนั้น มันคือ แหวน (แน่ละเขียนอยู่ตัวเบ้อเริ่ม) แต่มันไม่ใช่แหวนธรรมดา เป็นแหวนที่ XXXXXXXX ได้ YYYYYYYY ได้และ ZZZZZZZZZ ได้ โดยที่ในความเป็นจริง มันก็ยังคงคือ แหวนอยู่ แหวนคือ สิ่งที่เรา สวมมันเข้าไปที่ นิ้วมือ หรือนิ้วเท้า ในส่วนที่เป็น “นิ้ว” เท่านั้น ถ้าไปสวมที่อื่น เช่น คอ แขน ขา เราจะไม่เรียกว่า แหวน ทันที เป็นต้น (โอ้ยชักงง)……. ฉะนั้น ถ้าผมบอกว่า นี่คือ “แหวนที่สามารถฟังเพลงได้” นี่ก็คือ “ความคิดรวบยอด” ครับ หรือ concept ของวัตถุในภาพนั้นเอง
เข้าใจไหมว้า…………ถ้าใครผ่านมาแล้วอธิบายได้ดีกว่าผม รึว่าผมพลาดอะไรก็ Comment ได้เลยนะครับ
ฉะนั้นเผื่อผมพลาดอะไรไป ขอยกบทความวิชาการของ รศ.ฃูฃีพ อ่อนโคกสูง นักวิชาการการศึกษา ได้อธิบายไว้ในหมวดของศัพท์จิตวิทยาที่ www.swuaa.com ว่า
ความคิดรวบยอด : Concept
มโนทัศน์ : Concept
มโนมติ : Concept
สังกัป : Concept
แนวคิด : Concept
ความคิดรวบยอด หมายถึง ความรู้ความเข้าใจลักษณะเฉพาะร่วมของสิ่งเร้า (วัตถุ, สถานการณ์, เหตุการณ์, ปรากฏการณ์ ฯลฯ) กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ความคิดรวบยอดของสิ่งที่เรียกว่า “โต๊ะ” หมายถึงสิ่งเร้ากลุ่มหนึ่งที่มีขา และมีพื้นที่หน้าตัดสำหรับไว้ใช้งาน เช่น เขียนหนังสือ วางสิ่งของ ฯลฯ แต่ไม่ใช่สำหรับใช้นั่ง ความคิดรวบยอดนี้เกิดขึ้นในจิต เราใช้ภาษาเรียกชื่อ หรือใช้สัญลักษณ์แทนความคิดรวบยอดนั้น เพื่อสื่อสารกับผู้อื่น ในกรณีนี้หากผู้ใดมีความคิดรวบยอด (รู้จัก, เข้าใจ) เกี่ยวกับโต๊ะ เมื่อได้ยินคำว่าโต๊ะ หรืออ่านพบคำว่าโต๊ะก็จะบอกถึงลักษณะเฉพาะของโต๊ะได้ทันที คนที่มีความคิดรวบยอด “ประชาธิปไตย” เมื่อพบการใช้ชีวิต หรือการปกครองโดยสมาชิกในกลุ่มสามัคคีร่วมมือกัน ยอมรับนับถือกันและแก้ปัญหาด้วยวิธีการแห่งปัญญาก็จะทราบได้ทันทีว่า คนกลุ่มนั้นใช้ชีวิตหรือปกครองแบบประชาธิปไตย เพราะลักษณะทั้ง 3 ประการ คือลักษณะเฉพาะของประชาธิปไตยนั่นเอง จะเห็นว่าความคิดรวบยอดมีทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ที่เป็นรูปธรรมก็จะเรียนรู้หรือเข้าใจได้ง่ายกว่าที่เป็นนามธรรม เมื่อเรามีความคิดรวบยอดอะไรแล้วนอกจากเราสามารถระบุลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้นได้ เรายังสามารถจัดประเภทหรือแยกประเภทของสิ่งนั้นได้อีกด้วย เช่น เรามีความคิดรวบยอด “แมว” เมื่อพบสัตว์ตัวหนึ่งเราสามารถบอกได้ว่าใช่แมวหรือไม่ ถ้ามีลักษณะเฉพาะของแมวเราก็จัดว่าเป็นแมว ถ้าไม่มีลักษณะของแมวเราก็แยกประเภทไม่ใช่แมว เป็นต้น ความคิดรวบยอดนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งที่จะใช้ในเรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ (โลก) การเรียนการสอนจึงต้องให้เด็กเกิดความคิดรวบยอดที่ถูกต้องให้ได้ มิฉะนั้นแล้วเด็กจะไม่สามารถเรียนรู้หรือเข้าใจสิ่งต่าง ๆ อย่างแท้จริงได้ จะรู้หรือเข้าใจเฉพาะกรณีเท่านั้น เช่น ไม่เข้าความคิดรวบยอดเกี่ยวกับการบวกอย่างแท้จริง เมื่อจะต้องบวกเลขที่ไม่เคยบวกมาก่อนก็ไม่สามารถบวกได้ถูกต้อง เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป ความคิดรวบยอดไม่ใช่คำจำกัดความ ไม่ใช่ข้อสรุปของสิ่งเร้าใด ๆ แต่เป็นแก่นแท้ของกลุ่มสิ่งเร้าแต่ละกลุ่ม ความคิดรวบยอดจะเกิดขึ้นได้ (สร้างขึ้น) ก็โดยการพิจารณาความคล้ายคลึงและความแตกต่างของสิ่งเร้าที่ต้องการเรียนรู้เป็นสำคัญ เช่น ต้องการให้เกิดความคิดรวบยอด “ปากกา” ก็ต้องให้พิจารณาปากกาแล้วบอกชื่อว่าคือปากกา หลังจากนั้นนำปากกาด้ามอื่นมาให้พิจารณาโดยไม่บอกว่าคืออะไร ให้ผู้เรียนพิจารณาดูว่าใช่ปากกาหรือไม่ ต่อไปลองนำสิ่งที่ไม่ใช่ปาก (ดินสอดำ) มาให้พิจารณาว่าใช่ปากกาหรือไม่ ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนจัดประเภทของปากกาและแยกประเภทของสิ่งที่ไม่ใช่ปากกาได้ (ระบุได้ว่าอะไรใช่ปากกาอะไรไม่ใช่ปากกา) ซึ่งก็คือเกิดความคิดรวบยอดปากกาขึ้นแล้ว นั่นเอง
ต้องกราบขออนุญาต รศ.ฃูฃีพ อ่อนโคกสูง ที่นำบทความของท่านมาเผยแพร่ต่อที่นี้โดยไม่ได้ขออนุญาต หากไม่เหมาะสมหรือไม่อนุญาตสามารถติดต่อ admin ได้เลยครับ ขอขอบพระคุณอย่างสูง
เป็นไงครับ พอจะเข้าใจกันไหมครับ…….วันนี้เอาแค่นี้ก่อนละกันนะครับ ไว้จะมาต่อเรื่อง สิ่งที่เกี่ยวข้องกับคำว่า Concept ว่ามันต้องไปยุ่งกับอะไรบ้าง มากมายจริงๆ
ผู้เขียน/เรียบเรียง จานหนุ่ม